ความรัก... ใยต้องแปล#2

แรงบันดาลใจของคอร์ส “แปลรักเป็นความ”

บทสัมภาษณ์​ อ.หลิ่ง (กัญญา ลิขนสุทธิ์)
text พรรัตน์ วชิรชัย




พี่คิดว่า ถ้าตอนแต่งงาน พี่มีเครื่องมือที่ช่วยให้พูดคุยกับอดีตสามีของพี่ได้ มันคงจะดีมากเลย อีกส่วนหนึ่งพี่เห็นว่า ความสัมพันธ์แบบคู่รักมันเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณ เวลาที่เรามีคู่ การเดินทางของเราจะเหมือนได้ติดเครื่องแรงๆ มีฟืน มีไฟ มีแรงส่ง แรงยึดเพิ่มขึ้น เพราะถ้าเราเดินทางคนเดียว เราทำอะไรก็ตามใจตัวเองได้ แต่เวลามีอีกคนอยู่ด้วย เราจำเป็นต้องปรับ ต้องคุย ต้องคิดถึงอีกคนอย่างใกล้ชิด เลยคิดว่าจริงๆ แล้วมันเป็นความสนุกของชีวิต แล้วถ้าเรามีเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ก็น่าจะช่วยให้การเดินทางระหว่างคน 2 คน สื่อสารกันโดยมีความเข้าใจเป็นพื้นฐาน

การ “เห็นว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น” สำคัญอย่างไร
ปรกติในชีวิตเรา เรามักไม่รู้สึกตัว การเห็นก็คือการรู้เท่าทันตัวเอง เรารู้สึกและตระหนักรู้ ทำให้การตัดสินใจของเราเป็น Conscious Choice เช่น เมื่อเช้าพี่กับหลานนั่งกินข้าวเช้าแบบบุฟเฟ่ต์ที่โรงแรมด้วยกัน เราก็เปรยขึ้นมาว่า เราไม่มีช้อนส้อม อยู่ๆ หลานก็วิ่งจากห้องกินข้าวไป ในใจเราก็เริ่มรู้สึกไม่ดีแล้ว อะไรเนี่ย วิ่งทำไม เดี๋ยวก็ชนคนอื่นหรอก
แต่เขาวิ่งไปไหนรู้ไหม เขาวิ่งไปเอาช้อนส้อมมาให้พี่น่ะ ฉะนั้น แปลรัก ณ ที่นี้ ก็คือ เขาทำไปเพราะรักเรา แต่ถ้าเราชิงดุเขาไปก่อน เขาก็คงเสียใจ เราก็จะไม่ได้ได้รับความรักที่เขาอยากจะให้เรา ฉะนั้น พอรับช้อนส้อมจากเขาแล้ว พี่ก็บอกว่า “ขอบคุณมากนะที่เอามาให้ป้า แต่วันหลังถ้าอยู่ในห้องอาหารแบบนี้ ขอให้เดินดีกว่า เพราะถ้าเราวิ่ง เดี๋ยวคนอื่นในห้องอาหารเขาตกใจ จนทำอาหารหกได้นะ”



คอร์สนี้แตกต่างจาก “การสื่อสารด้วยความกรุณา” อย่างไร

ความต่างคือแบบฝึกหัดที่ไม่เหมือนกัน บางส่วนจะแนะให้กลับไปทำที่บ้าน เช่น เราอาจจะให้เขาไปคุยกัน ว่าเวลาที่ทะเลาะกัน เวลาที่เขาเริ่มรู้ตัวเองว่ากำลังล้น อีกฝ่ายหนึ่งพูดมา แต่เราไม่ได้ยิน เราอยากจะพูดอย่างเดียว เราจะมีสัญญาณที่จะบอกว่ากันว่า ตอนนี้ฉันล้นแล้ว พูดต่อไม่ได้แล้ว พออีกฝ่ายเห็นสัญญาณอย่างนี้เขาจะเริ่มเข้าใจและเบาลง ซึ่งเครื่องมือเหล่านี้ทำให้อย่างแรกเราเห็นตัวเอง อย่างที่สองเราได้สื่อสารออกไป เวลาที่เราทะลาะกัน จะได้ทะลาะกันอย่างมีประสิทธิภาพ (ยิ้ม)


ทะเลาะกันอย่างมีประสิทธิภาพหมายถึงอะไร เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งแบ่งปันว่า ความสัมพันธ์ของแกทะเลาะกันบ่อย แต่การทะเลาะแต่ละครั้งไม่เคยเหมือนกันเลย เรื่องราวมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเวลาที่ทะเลาะกัน เขาจะพยายามสะสางประเด็นนั้นให้หมด แต่กับคนส่วนใหญ่มักจะทะเลาะเรื่องเดิมๆ ไม่ได้เคลื่อนไปไหนเลย

การทะเลาะของเราสะท้อนการเติบโตของเรา ถ้าเราทะเลาะกันอย่างมีประสิทธิภาพ พื้นที่ภายในของเราจะกว้างมากขึ้น เพราะเราเข้าใจตัวเองและอีกฝ่ายในพื้นที่นั้น และเมื่อเราทะเลาะกันในขอบเขตใหม่ๆ ก็เปรียบเหมือนเราได้เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ชีวิตคู่ของเราก็จะมีชีวิตชีวา ฉะนั้น การทะเลาะและคุยกันจนเกิดความเข้าใจจึงช่วยเพิ่มพลังชีวิตให้กับเรา แต่การทะเลาะกันเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ จะบั่นทอนและดูดพลังชีวิตของเราไปหมด

ส่วนที่เป็นช่วงสำคัญของการอบรมครั้งนี้คือ ตอนที่เราชวนคู่สามีภรรยาทำ Role Play โดยพี่ทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ มีหลายคู่ที่เห็นว่าปัญหาของคู่นี้เหมือนของเขาเลย และได้เห็นว่า สิ่งที่ผู้ชายทำหมายความว่าอะไร สิ่งที่ผู้หญิงต้องการคืออะไร เห็นว่าจะคุยอย่างไร จะทำอย่างไรให้เข้าใจตัวเองได้ลึกๆ เราถึงจะสื่อสารกัน


ถ้าอย่างนั้น คำว่า “แปล” หมายถึง แปลสิ่งที่อยู่ในใจตัวเอง?
ใช่ เราเข้าใจตัวเองมากพอที่จะแปลตัวเรา พฤติกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นคำพูด การกระทำ มันจะสื่อความในใจของเรา

สมัยยังแต่งงาน เวลาพี่มีปัญหาอะไร สามีพี่จะพยายามแก้ปัญหาให้ ซึ่งทำให้เราไม่พอใจ เพราะเราอยากให้เขารับฟังเฉยๆ เราอยากแก้ปัญหาตัวเอง แค่ฟังก็พอ ตอนนั้น ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้าใจตรงนี้แล้วพูดขึ้นมาว่า “ผมอยากช่วยคุณแก้ปัญหาได้ไหม” นี่คือการเคาะประตูขออนุญาต ฝ่ายภรรยาก็อาจตอบว่า “ตอนนี้ฉันหนักใจมาก อยากให้เธอฟังฉัน ยังไม่อยากให้แก้ไข เธอฟังฉันก่อนได้หรือเปล่า” ฝ่ายสามีก็จะเข้าใจว่าเรารู้สึกอะไร ต้องการอะไร และจะทำอะไรเพื่อช่วยเรา แต่ตอนนั้นพี่ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไร พอเราแยกทางและเป็นเพื่อนกัน เวลาที่เราเห็นว่าเขาอยากช่วยแก้ปัญหาให้เรา เราเพิ่งจะรับรู้ได้ว่าเขาใส่ใจเรามาก แต่ตอนนั้นเราไม่รับรู้ ไม่ได้ยินเลย

ดังนั้น เราจะได้ฝึกการตระหนักรู้และสื่อสารเพื่อเกื้อกูลความสัมพันธ์ มากกว่าความสัมพันธ์

คู่รักแบบไหนที่เหมาะกับการอบรมนี้?
คู่รักที่รู้สึกว่าเริ่มสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง มีคำถามในใจว่า หลังจากผ่านช่วงฮันนีมูน (หรือหมดโปรโมชั่น) แล้ว เราจะอยู่ด้วยกันอย่างไร เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องการเอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือประนีประนอม เราจะทำได้ไม่นานหรอก หรือคุณพ่อคุณแม่อาจสมัครคอร์สนี้ให้กับลูกที่กำลังแต่งงานเพื่อเป็นของขวัญให้เขามีเครื่องมือในการสื่อสารกับคู่รัก

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...