แปล "รัก" ให้เป็น "ความ (เข้าใจ) "

“รัก” คำๆ นี้เป็นทั้งแหล่งของความสุขและทุกข์แสนสาหัส ความรักของทุกคู่มักเริ่มต้นด้วยความหวานชื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การอยู่ร่วมกันของคน 2 คนกลับไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต่างคนต่างมีความคาดหวังต่อกัน ต่างมีรู้สึกคับข้องใจในประเด็นต่างๆ มากมาย จึงง่ายที่จะกระทบกระทั่งหรือขัดแย้ง หากมากเข้าจากความขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจกลายเป็นความรุนแรง และสุดท้ายก็ต้องเลิกรากันไป กัญญา ลิขนสุทธิ์ นักฝึกอบรมด้านการสื่อสารด้วยความกรุณา และ ณัฐฬส วังวิญญู นักฝึกอบรมด้านสุนทรียสนทนา ต่างเคยเผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทุกคู่รักน่าจะได้เรียนรู้

“ความรักเนี่ยเป็นเรื่องนามธรรม แม้ทุกคนจะเข้าใจความหมาย แต่กลับแสดงออกไม่เหมือนกัน ทำให้เราตีความการกระทำและคำพูดของอีกฝ่ายไม่ออก หรือเข้าใจผิดไป คำถามคือ เราจะแปลความรักให้ตรงกันได้อย่างไร เราจะเลือกแปลจากคำพูดหรือการกระทำ และเราจะแปลความรักในใจเราให้เป็นคำพูดและการกระทำแบบไหนถึงจะทำให้เขาจะเข้าใจเราได้” ณัฐฬสกล่าว

ส่วนกัญญาคิดว่าความสัมพันธ์แบบคู่รักเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษ เป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณในอีกรูปแบบหนึ่ง “เวลาที่เรามีคู่ การเดินทางของเราจะเหมือนได้ติดเครื่องแรงๆ มีฟืน มีไฟ มีแรงส่ง มีแรงยึดเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าเราเดินทางคนเดียว เราอยากทำอะไรเราก็ทำ แต่เวลาที่มีคนอีกคนคนอยู่ด้วย เราต้องปรับ คุย และคิดถึงเขาคนนั้นอย่างใกล้ชิด ถ้าเรามีเครื่องมือที่ช่วยให้เราเห็นว่า ระหว่างการเดินทางด้วยกันมันมีอะไรเกิดขึ้น สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยในการเดินทางครั้งนี้”

ด้วยความสนใจที่คล้ายกัน กัญญาและณัฬสจึงนำศาสตร์ที่ตนเชี่ยวชาญ อันได้แก่ การสื่อสารด้วยความกรุณา (Compassionate Communication) และ สุนทรียสนทนา (Dialogue) มารวมกันเป็นงานอบรม “แปลรักเป็นความ” ที่จะจัดเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 9 -11 กันยายนที่จะถึงนี้

ขยายขอบเขตของตัวตน
หนังสือบางเล่มบอกว่าผู้หญิงกับผู้ชายมาจากดาวคนละดวง คนหนึ่งต้องการการยืนยันความรู้สึก แต่อีกคนหนึ่งปากหนัก ไม่ชอบพูด หรือ อีกคนคิดว่าอีกฝ่ายควรจะรู้ใจและเดาใจได้ แต่อีกฝ่ายกลับอยากให้บอกออกมาชัดๆ เมื่อความคิด คำพูด และกระทำของทั้งคู่ไม่สอดคล้องกัน ความเข้าใจในความรักจึงไม่เกิดขึ้น



ณัฐฬสเล่าเรื่องของผู้ชายคนหนึ่งว่า เขาคนนี้ช่วยภรรยาทำงานทุกอย่าง ไม่เว้นแม้งานบ้าน เขาเป็นคนเก็บความรู้สึกและทำทุกอย่างเหมือนเป็นหน้าที่ แม้ว่าเขาไม่เห็นว่ามันเป็นปัญหา แต่ภรรยาของเขากลับบ่นเสมอว่าเขาทำแต่ละอย่างเหมือนสักแต่ทำ ไม่มีความรู้สึก ทำไมไม่พูดถึงความรู้สึกบ้างเลย เขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมภรรยาถึงอยากให้เขาพูดสิ่งที่เขาไม่ถนัด จนวันหนึ่งเมื่อได้มาร่วมอบรม เขาเห็นว่า หากเขาข้ามสิ่งนี้ไปได้ ผู้หญิงที่เขารักจะเข้าใจเขาและมีความสุขมากขึ้น หลังจากคิดแล้วคิดอีก เขาตัดสินใจโทรหาภรรยาเพื่อบอกว่า ผมมีเรื่องสำคัญอยากจะบอก ผมรู้สึกขอบคุณที่คุณทำทุกอย่างให้ผมตลอดมา จริงๆ แล้ว ผมรู้สึกเป็นห่วงและคิดถึงคุณ” 

เพียงแค่นั้น ปลายสายเงียบไปสักครู่ แล้วเริ่มร้องไห้ด้วยความตื้นตัน

นี่คือการก้าวข้ามที่สำคัญในความสัมพันธ์ของเขา โดยใช้ใจที่กล้าลองไม่เป็นตัวของตัวเอง ใช้ความรักและความรู้สึกให้มากขึ้น

“ผมคิดว่า เราทุกคนต่างมีขอบเขตความเป็นตัวเราที่คุ้นชิน เราทำโดยคิดว่านี่คือตัวเรา อย่ามาเปลี่ยนฉันเลย แต่อีกแง่เราก็อยากหาวิธีการอื่นๆ ที่จะทำให้ความสัมพันธ์ดีขึ้น และถ้าเราไม่ข้ามขอบแดนนี้ไป ปัญหาในรูปแบบเดิมก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก แต่ถ้าเรายอมเป็นมากกว่าสิ่งที่เราเป็น ความสัมพันธ์ก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป”

ทะเลาะกันอย่างมีประสิทธิภาพ
หลายครั้งเวลาที่คู่รักทะเลาะกัน เรามักได้ยินคำว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” หรือ “ประนีประนอม ยอมๆ กันไป” แต่จริงหรือไม่ เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เรื่องราวเก่าๆ ก็กลับมาเกิดซ้ำรอยเดิมอีก

กัญญาบอกว่า การทะเลาะกันของคู่รักสะท้อนการเติบโตของคนทั้งคู่ หากเขาทะเลาะกันในเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ การทะเลาะจึงได้แต่บั่นทอนความสัมพันธ์และความรู้สึกห่างเหินระหว่างกันให้ถ่างออกไป



“เคยมีอาจารย์ด้านการสื่อสารอย่างกรุณาท่านหนึ่งแบ่งปันว่า เขาทะเลาะกับคู่บ่อยมาก แต่การทะเลาะกันแต่ละครั้งไม่เคยเหมือนกันเลย เรื่องราวจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะเวลาที่เขาทะเลาะกัน เขาจะพยายามสะสางประเด็นนั้นให้หมด แต่ในความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ เราจะทะเลาะกันเรื่องเดิมๆ ซึ่งถ้าเราสามารถทะเลาะกันอย่างมีประสิทธิภาพแบบนี้ได้ พื้นที่ภายในของเราจะกว้างมากขึ้น เพราะเราเข้าใจตัวเองและอีกฝ่ายในพื้นที่นั้นแล้ว เมื่อเราทะเลาะกันในขอบเขตใหม่ๆ ก็เปรียบเหมือนเราได้เดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ ชีวิตคู่ของเราก็จะมีชีวิตชีวา การทะเลาะและพูดคุยกันจนเกิดความเข้าใจจึงช่วยเพิ่มพลังให้กับชีวิตคู่ แต่หากคู่รักทะเลาะกันในเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ มันก็จะบั่นทอนและดูดพลังชีวิตของเราไป

“ในการอบรมครั้งนี้ เราจะได้ฝึกพื้นฐาน 2 อย่าง อย่างแรก คือ การตระหนักรู้ในตนเอง จนเรา “แปล” ความรักในใจของเราได้ สอง คือ เรียนรู้เครื่องมือการสื่อสารให้ “ความ” ที่สื่อออกมานั้นชัดเจนเพียงพอ” กัญญากล่าวสรุป

ด้านณัฐฬสกล่าวทิ้งท้ายว่า “ผมรู้สึกว่ามนุษย์มีความปรารถนา ความยึด และความคาดหวังอยู่ในคู่รัก พ่อแม่อาจคาดหวังลูกไม่เหมือนที่พ่อแม่คาดหวังกันเอง ฉะนั้น ความสัมพันธ์นี้จึงพิเศษและท้าทาย หลายคู่ไม่สามารถไปกันได้รอด ก็ต้องเลิกรา หรืออาจอยู่ด้วยกันแบบทนๆ ด้วยความผูกพัน เห็นแก่ลูก หรือเห็นแก่ความดีที่อีกฝ่ายเคยมี แต่มันจะไม่ชุ่มชื่นเบิกบานใจ เหมือนความรักที่มีความเข้าใจและความวางใจต่อกัน สถานการณ์มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่ถ้าเรามีวิธีการที่จะทำความเข้าใจ มันจะช่วยให้เรามีความสุขมาก”

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...