ความรัก... ใยต้องแปล#1



ที่มาของ “แปลรักเป็นความ”

บทสัมภาษณ์ อ.ณัฐ (ณัฐฬส วังวิญญู)
text พรรัตน์ วชิรชัย

ผมได้คุยกับพี่หลิ่งว่าเราอยากจะทำคอร์สที่เกี่ยวกับชีวิตคู่ เพราะเวลาที่ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่มีปัญหา มีความคิดเห็นต่าง หลายๆคู่สื่อสารกันได้ยาก เราอยากจะเอาวิธีการของ “การสื่อสารอย่างสันติ” มารวมกับ “สุนทรียสนทนา” เพื่อชวนคนที่สนใจมาเรียนรู้เรื่องการสื่อสารในคู่รัก โดยตั้งชื่อการอบรมครั้งนี้ว่า “แปลรักเป็นความ”

ความรักเป็นเรื่องนามธรรมที่แม้ว่าทุกคนจะเข้าใจความหมายของมัน แต่ว่าแต่ละคนกลับแสดงความรักออกมาไม่เหมือนกันเลย ทำให้เราตีความ “การกระทำ” และ “คำพูด” ไม่เหมือนกัน และทำให้เข้าใจกันผิด

เราจะแปลความรักให้ตรงกันได้อย่างไร? เราจะแปลจากคำพูดหรือการกระทำของเขา? และเราจะแปลความรักในใจเราให้ออกมาเป็นคำพูดหรือการกระทำแบบไหนถึงจะทำให้เขาจะเข้าใจเราได้?

บางคนเลือกที่จะแสดงออกความรักด้วยการกระทำ ผ่านการซื้อของ ทำนั่นนู้นนี้ให้ แต่ไม่ชอบพูด แต่อีกคนอยากได้ยินคำพูด ถึงแม้ว่าจะรู้ว่าอีกฝ่ายทำให้ด้วยความรัก แต่อยากได้รับการยืนยัน เป็นต้น เราจึงต้องมาฝึกแปลให้ความคิด การกระทำ และคำพูดของเราให้สอดคล้องกัน เพื่อที่เราจะเข้าใจกันมากขึ้น

ทำไมต้องจัดให้เฉพาะคู่รัก


เราสนใจเรื่องนี้เพราะคู่รักเป็นคู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมาก บางคนใช้เวลากับสามีภรรยาหรือแฟนมากกว่าพ่อแม่ของเราเสียอีก เราจะเห็นว่า เวลาที่เราทะเลาะกับพ่อแม่ ผลมันจะไม่รุนแรงเท่าไหร่ แต่ในคู่รัก เราจะเห็นข่าวการใช้ความรุนแรงเยอะมาก เพราะความสัมพันธ์นี้มันทำให้เราเจ็บปวดมาก

ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามนุษย์มีความปรารถนา ความยึด และความคาดหวังในคู่รักมาก พ่อแม่อาจคาดหวังลูก ไม่เหมือนที่พ่อแม่คาดหวังกันเอง ฉะนั้นนี่จึงเป็นความสัมพันธ์ที่พิเศษและท้าทายมาก หลายคู่ไม่สามารถไปกันได้รอด ก็ต้องเลิกลา ซึ่งก็ไม่แปลก หรืออาจจะอยู่ด้วยกันแบบทนๆ อยู่ด้วยความผูกพันธ์ เห็นแก่ลูก หรือเห็นแก่ความดีที่อีกฝ่ายเคยมี แต่มันก็ไม่ชุ่มชื่นเบิกบานหัวใจ เหมือนความรักที่มีความเข้าใจและความวางใจต่อกัน สถานการณ์มันเหมือนเส้นผมบังภูเขา แต่ถ้าเรามีวิธีการที่จะทำความเข้าใจ มันจะช่วยให้เรามีความสุขมาก

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...