ของขวัญที่มาพร้อมกับความขัดแย้ง

       


           เมื่อวันที่ ๒๒-๒๖ ม.ค. ๒๕๕๗ ผมได้มีโอกาสเรียนหลักสูตรจิตวิทยาเชิงกระบวนการ ที่เรียกว่า Process-Oriented Psychology (หรือ Process Work) เรื่อง “ผู้นำจากภายใน (Leadership Presence)”  กับกระบวนกรผู้มากประสบการณ์ อาจารย์ Gill Emslie จาก Findhorn Consultancy Service สหราชอาณาจักร โดยเน้นเรื่องกระบวนการเรียนรู้เพื่อเติบโตจากภายในผ่านการทำความเข้าใจการกระทบกระทั่งหรือความขัดแย้ง แม้เธอจะมาสอนเรื่องนี้ให้กับกลุ่มศึกษาปฏิบัติเป็นปีที่สี่แล้ว แต่ทุกครั้งที่ผมเข้าเรียน ก็จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกคราวไป

คราวนี้ผมได้เรียนรู้การทำความเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเป็นสนามพลังที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันอย่างแยกไม่ออก สิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวเราสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกตัวเราด้วย และในทางกลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ก็สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเราด้วย โดยทั้งสองอย่างส่งผลถึงกันและกันตลอดเวลา เพราะมีการเชื่อมโยงกันตลอดเวลา ทั้งในสิ่งที่ชอบใจ (สอดคล้องกับสิ่งที่เราให้คุณค่า) และที่ไม่ชอบ (ขัดแย้งกับระบบคุณค่าของเรา) 

ในความสัมพันธ์ เพื่อรักษาบรรยากาศที่ราบรื่นและสัมพันธภาพที่ดี เราอาจเลือก “เก็บ” ความรู้สึกกวนใจ (disturbance) ความรู้สึกที่ไม่ดีหรือไม่พอใจ (discontent) ไว้ แล้วบอกตัวเองว่า “ไม่เป็นไร” เพื่อจะได้ไม่สร้าง “ปัญหา” ที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เราเชื่อว่าความรู้สึกนี้จะหายไปเอง และดำรงความสัมพันธ์ในภาวะ “สุภาพ” และ “ให้เกียรติ”​ กันต่อไป แต่ยิ่งหลีกเลี่ยงการปะทะกระทบกระทั่งด้วยการละเลยความรู้สึกภายในของตัวเอง ความสัมพันธ์ก็อาจจะยิ่งห่างเหินกันไปทีละน้อยๆ ดังเราพูดถึงคนอื่นได้อย่างเปิดเผยมากกว่าพูดกับเจ้าตัวโดยตรง และเมื่อห่างกันมากขึ้นไปอีกก็จะเกิดอาการ “อยากออกห่าง” หรืออยากมีชีวิตโดยไม่ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอีก เพื่อรักษาความ “สบายใจ” ของตัวเองไว้

ที่น่าสนใจก็คือ แม้เราจะพยายามเก็บความไม่พึงพอใจเหล่านี้เอาไว้อย่างดี แต่เรามักจะไม่รู้ตัวว่าเรา “เก็บอาการ” ไม่อยู่ และแสดงออกโดยไม่รู้ตัวหรือนึกไม่ถึง ซึ่งอาการหรือสัญญาณซ้อนเหล่านี้ (double signals) ส่งผลต่ออีกฝ่ายผ่านจิตไร้สำนึกโดยไม่รู้ตัวได้อย่างแยบยล และอาจส่งผลให้เขาเกิดความรู้สึกต่างๆ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลหรือที่ไปที่มา เช่น อาการหมั่นไส้ เหม็นเขียว อิจฉา กระอักกระอ่วน ติดขัดหรือไม่สบายใจ รวมทั้งอาการด้านบวกเช่น ความชอบพอ หลงใหล คลั่งไคล้ หรือหลงเสน่ห์ด้วย

กล่าวเฉพาะด้านลบว่า ส่วนใหญ่กว่าเราจะรู้ตัวก็ปล่อยให้ความรู้สึกกวนใจเหล่านี้สั่งสมและหมักหมมจนกลายเป็นความห่างเหิน หวาดระแวงทั้งในระดับอ่อนๆ แบบกวนใจเป็นพักๆ (แม้จะอยู่ห่างกัน) และแบบรุนแรงได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนถึงขั้นโกรธหรือแค้น ยิ่งเราต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เราก็จะสร้าง “ภาพลักษณ์ตัวแทน” ของอีกฝ่ายในใจเราเองอย่างวิจิตพิสดารมากกว่า “ตัวจริง” และเริ่มพูดถึงเขาราวกับรู้จักเขาดีแล้ว 

แต่ที่น่าแปลกคือ ยิ่งเรากีดกันสิ่งรบกวนออกไปจากหน้าจอชีวิตมากเท่าไร ก็ดูเหมือนเราเริ่มกลายเป็นสิ่งนั้นมากขึ้นอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว เช่น คนที่ประณามความรุนแรงก็เริ่มกระทำการรุนแรงเสียเอง หรือผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็กลายเป็นเผด็จการในองค์กรหรือครอบครัวของตัวเองได้อย่างแนบเนียน เป็นเพราะเราเองปฏิเสธสิ่งรบกวนนั้นๆ ทั้งที่อยู่ภายนอกและภายในตัวเรา 

ดังนั้นทางออกที่สำคัญในเรื่องนี้ คือ “การมีท่าทีที่เหมาะสม” การมองว่าอาการ “กระทบรบกวน” ดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสัมพันธภาพ ไม่ถือว่าเป็น “ปัญหา” ที่ต้องหลีกเลี่ยง หากแต่เป็นสิ่งที่จักรวาลหรือธรรมชาติภายในต้องการให้เราทำความเข้าใจ และหลอมรวมเพื่อให้เกิดความบริบูรณ์และสมดุลในระบบยิ่งขึ้น

โดยแนวทางการทำงานในเรื่องนี้มี ๒ ประการคือ ประการแรก เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าเรามีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้น ให้ลองระบุหรือสื่อสารมันออกมา แล้วค้นหาว่า “อีกฝ่าย” แสดงออก พูด หรือทำอะไรที่ส่งผลถึงเรา เช่น สีหน้าท่าทางของเขา คำพูดบางอย่าง หรือการแสดงออกทางสายตา และค้นหาภายในตัวเองว่าสิ่งที่เราให้คุณค่าหลักนั้นคืออะไร และสิ่งที่มากระทบนั้นมีคุณลักษณะเด่นหรือแก่นสาร (Essence) อะไร เช่น เราอาจระบุว่า สิ่งที่กวนใจคือ “เขาดูมั่นใจเกินเหตุและกร่าง” และเมื่อค้นหาแก่นสารภายใน เราอาจพบว่ารูปแบบภายนอกอาจขัดแย้งกับระบบคุณค่าหลักของเราเช่น “ความอ่อนน้อมถ่อมตน” แต่ภายใต้รูปแบบที่ “มั่นใจเกินเหตุ” นี้ เราก็พบว่ามีคุณลักษณะของ “ความเป็นตัวของตัวเองและอิสระในการแสดงออก” ที่เราเองก็ต้องการบ้างเช่นกัน

ประการที่สอง เราสามารถชำระสะสางสิ่งปฏิกูลที่ตกค้างหมักหมมในความสัมพันธ์ได้ด้วยการสื่อสารอย่างเปิดเผยกับบุคคลนั้นๆ ถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นและถามไถ่ความรู้สึกของอีกฝ่ายเพื่อรับรู้กันและกัน ด้วยเจตนาให้บรรยากาศหรือความรู้สึกระหว่างเราโล่งโปร่งและสบายเนื้อสบายตัวยิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นการร่วมกันหันหน้าเผชิญกับ “อะไรบางอย่าง” ที่ดำรงอยู่กับจิตไร้สำนึกร่วม เพื่อทำความเข้าใจกับ “สิ่งแปลกปลอม” ในตัวเอง อย่างไม่มาหลอกหลอนให้กลายเป็นหวาดระแวงและห่างเหินจนเกินแก้ไข

โดยสรุป เมื่อเกิดเหตุจี้ใจขึ้น เราไม่จำเป็นต้องใช้คาถา “ไม่เป็นไร” กลบเกลื่อนผลกระทบที่ไม่อาจกำจัดให้หมดไปได้ แต่เราสามารถเรียนรู้ที่จะ “เปิดรับ” ของขวัญที่มาพร้อมกับความขัดแย้ง โดยมีแก่นสารล้ำค่าสำหรับชีวิตที่บรรจุอยู่ภายใน ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ต่อชีวิตได้ และยังสื่อสารบอกกล่าวต่ออีกฝ่ายให้รับรู้ถึงสิ่งที่เราได้รับ อันจะนำพาความสัมพันธ์ของเราให้เข้าใจและเข้าใกล้กันอย่างจริงแท้ยิ่งขึ้น 

ณัฐฬส วังวิญญู
สนับสนุนโดย มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์

ตีพิมพ์ใน มติชนรายวัน วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖

ผ่าตัดโรงเรียน

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 ธันวาคม 2555


ภาพโดย Gokoroko
          เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสทำงานกับโรงเรียนเล็กๆ แห่งหนึ่งในเชียงราย บรรยากาศตอนแรกที่ได้เข้าไป ผมสัมผัสได้ว่าทั้งครูและพนักงานต่างรู้สึกท้อแท้ กังวล และหวาดระแวง ไม่มีใครกล้าพูดอย่างเปิดเผย ความเงียบงำทำให้วงประชุมดูอึมครึม เก็บกดมากกว่าผ่อนคลาย ทั้งๆ ที่ในอดีตโรงเรียนแห่งนี้มีบรรยากาศการทำงานอย่างมีความสุข ทุกคนช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างแข็งขัน ทั้งเด็กนักเรียนและผู้ปกครองต่างรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ แต่มีบางอย่างเกิดขึ้นราวกับโรคระบาดในชุมชนแห่งนี้ จนทำให้เกิดอาการต่างคนต่างอยู่ และทำงานไปวันๆ หลีกเลี่ยงที่จะสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา แม้แต่ในกลุ่มผู้ปกครองเองก็ได้รับโรคนี้ไปด้วย แบ่งเป็นพรรคเป็นพวก เกิดความไม่มั่นใจในการดำเนินงานของโรงเรียน หลายคนตัดสินใจพาลูกออกไปหาที่เรียนใหม่ จำนวนนักเรียนตกฮวบเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ครูและคนทำงานสนับสนุนต่างเสียขวัญและกำลังใจในการทำงาน 

          ครั้งแรกที่ผมเข้าไปจัดประชุมเพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเสียงของทุกคนในโรงเรียน ก็สังเกตเห็นจากสีหน้าท่าทางของผู้คนที่แสดงออกถึงความรู้สึกที่หลากหลาย มีทั้งรู้สึกหวาดระแวง ไม่ปลอดภัย และไม่อยากพูดอะไร เพราะคิดว่า “พูดไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น เปลืองเนื้อเปลืองตัว เสียเปล่า” หรือไม่ก็เป็นความรู้สึกโกรธที่ไม่ได้รับการดูแลและใส่ใจให้คุณค่าจากผู้บริหาร หลายคนพูดถึงความห่วงใยที่มีต่อเด็กๆ และผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และกังวลว่าอนาคตของโรงเรียนและตัวเองที่ดูง่อนแง่นไม่มั่นคงจะดำเนินไปอย่างไร

          การเปิดวงสนทนาเพื่อนำเองความในใจจากมุมมืดทั้งหลายออกมาสู่ที่แจ้งจากการพูดคุยถึง “คนอื่น” ในกลุ่มย่อยมาสู่ “พื้นที่ร่วม” กันนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ไม่มีใครสามารถบังคับและกะเกณฑ์ให้ใครต้องพูดได้

การสืบค้นของคนขี้สงสัย ตอนที่ 2: เส้นทางเดินของผู้กล้า


ภาพโดย Janthip Piyaworlathum

          ในการแสวงหาเส้นทางเดินแห่งจิตวิญญาณ เราแต่ละคนล้วนมีเส้นทางของตัวเอง แม้ว่าศาสนาหรือผู้รู้จะได้แสดงให้เห็นว่าเส้นทางที่มีศาสดาทั้งหลายเดินมาก่อนหน้าเป็นอย่างไร และแม้เราจะยอมเดินตามด้วยความเคารพและจริงใจเพียงใด ภารกิจของเรา คือการแสวงหาด้วยตัวเราเอง เพื่อที่จะได้รู้อย่างประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง และนั่นอาจหมายถึงการลองเป็นตัวของตัวเอง ที่เสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาและตัดสินโดยผู้คนในสังคม  จึงจำต้องอาศัยความกล้าหาญ และกำลังใจอย่างยิ่ง  และเมื่อเราค้นพบศักยภาพของที่เป็นดังขุมทรัพย์ภายในตัวเองได้ เราจะตอบแทนสังคมได้อย่างสมภาคภูมิ

          ผมขอยกงานเขียนของโจเซฟ แคมเบล นักตำนานวิทยาผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับการ แสวงหาทาง จิตวิญญาณแห่งยุคสมัย จากหนังสือ A Joseph Cambell Companion: Reflection of the Art of Living ที่เหมือนกับกลั่นกรองและสะกัดมาจากความเข้าใจในการแสวงหาของมนุษย์ที่เขาสั่งสมมาหลายสิบปี

          อภิสิทธิ์อันสูงสุดของการมีชีวิตที่เราได้รับ อยู่คือการได้เป็นสิ่งที่เราเป็นไม่ว่าคุณจะทำอะไร ก็ตาม จงทำมันราวกับเล่นชีวิตนั้นหามีความหมายใดๆ คุณนำความหมายมาใส่ให้ชีวิต ดังนั้น ความหมาย ของชีวิตก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณให้ความหมายมันอย่างไร ความหมายของชีวิตก็คือการมีชีวิตอยู่ 

การแสงหาของคนขี้สงสัย ตอนที่ 1


การแสวงหาของคนขี้สงสัย ตอนที่ 1


สิบปีที่ผ่านมา ผมทำงานด้านการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการดูแลจิตใจของ คนในองค์กร ต่างๆ  บนพื้นฐานของการฝึกสติและการรับฟังเชิงลึก เพื่อสร้างความเข้าใจ แก้ไขความขัดแย้ง ให้กับกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ ได้เกิดเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ส่งผลเป็นเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต ทั้งในด้านทัศนคติและพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ดังที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองในการทำงานด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม

มีคนถามผม อยู่เรื่อยๆ ว่า ผมมาทำงานด้านนี้ที่ส่งผลต่อผู้คนในวงกว้างได้อย่างไร อะไรเป็นแรงบันดาลใจ หรือจุดพลิกผันในชีวิต ทำไมผมไม่เดินบนเส้นทางของวิศวกรที่ผมศึกษามา ผมมีภาษาการพูดหรือการขีดเขียนที่มีท่วงทำนองดังกวีได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตกวิชาภาษาไทย ทำไมผมเลือกไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาทางเลือกแนวพุทธอย่างนาโรปะ (Naropa University)  เส้นทางชีวิตที่ดูผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไปนำมาซึ่งคำถามที่ผมย้อนถามและสืบค้นกับตัวเอง 

[3 - 9 ธ.ค. 55] นิเวศภาวนา


“เพียงตั้งคำถามได้นั้นไม่เพียงพอหรอก ฉันอยากจะตอบได้ต่างหาก 
โดยเฉพาะคำถามซึ่งดูจะเกี่ยวพันกับทุกสิ่งที่ฉันพบเจอ ฉันมาอยู่ที่นี่เพื่ออะไร?”
- อับราฮัม โจชัว เฮเชล

           นิเวศภาวนา (Eco-Quest) เป็นการแสวงหาทางจิตวิญญาณ หรือพิธีกรรมแห่งการแปรเปลี่ยนชีวิต (Rite of Passage) ที่กระทำกันในหลายวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ให้เราสร้างหลักหมายให้ช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิต เช่น จากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ รวมถึงการทบทวนชีวิต ยอมรับความทุกข์ ความผิดพลาดหรือเหตุการณ์ที่เจ็บปวดในอดีต การลาจากของคนรัก ไม่ว่าจะเพราะความตายมาพรากให้จากกัน หรือความสัมพันธ์มีอันต้องเลิกราไป เป็นต้น

          การได้อยู่ลำพังคนเดียว อดอาหาร และใกล้ชิดกับธรรมชาติในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และท้าทายนี้ จะช่วยดึงความเข้มแข็งภายในของคุณออกมา เยียวยาร่างกายและจิตใจให้ฟื้นคืนสู่สมดุล และกลับมาได้ยินเสียงบรรเลงแห่งจิตวิญญาณภายในของตนได้แจ่มชัดมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ โปรแกรมนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ที่กำลังสนใจค้นหา/ตั้งคำถามถึงเป้าหมายในชีวิต และผู้ที่ต้องการขัดเกลาการเดินทางทางจิตวิญญาณของตนให้ลุ่มลึกมากยิ่งขึ้นด้วย

Beginner's Mind: Introduction to Dialogue


การอบรมเชิงประสบการณ์ขั้นเริ่มต้นสู่การเข้าใจตนเองและผู้อื่น
 นำกระบวนการโดย โอม รัตนกาญจน์
วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2555 (9:00-17:00 น.)
ณ บ้านพักคริสเตียน ซ.ศาลาแดง 2 กรุงเทพฯ

“In the beginner’s mind there are many possibilities, but in the expert’s there are few. / ในจิตของผู้เริ่มต้น มีความเป็นไปได้มากมาย แต่ในจิตของผู้รู้ 
(ผู้ที่ถือว่าตนรู้แล้ว) ความเป็นไปได้มีจำกัด”
- ชุนริว ซูซูกิ (จากหนังสือ Zen Mind, Beginner’s Mind)

นี่คือหัวใจสำคัญของการเข้าถึงคำสอนของเซน (Zen) เพราะสิ่งที่ยากที่สุดสำหรับการฝึกตนในวิถีนี้ มิใช่การพยายามอดทนปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมอย่างอุทิศชีวิต แต่คือการรักษา “จิตของผู้เริ่มต้น” ที่เปิดรับความเป็นไปได้ต่างๆ โดยธรรมชาติ เปรียบดั่งจิตอันบริสุทธิ์ดั้งเดิมของเด็ก ผู้เฝ้ามองสังเกตสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาแห่งความสนใจใคร่รู้ เบิกบาน และมีชีวิตชีวา

เช่นเดียวกับการฝึกปฏิบัติในวิถีของ Dialogue ที่เราจะสามารถเข้าใจความหมายและแก่นสารของผู้คนทั้งหลายได้  ก็เมื่อเราพัฒนาการเปิดรับรู้ให้เป็นดังจิตของผู้เริ่มต้น ที่สามารถเฝ้าสังเกตและรับรู้สิ่งต่างๆได้อย่างละเอียดลุ่มลึก และเป็นอิสระจากอิทธิพลของการตีความด้วยความคิดเห็นและความรู้เดิมๆ ซึ่งเป็นวิถีปฏิบัติที่แตกต่างจากการฝึกพูด ฝึกแสดงความคิดเห็น หรือการแสดงตัวตนให้ดูเก่งกาจและฉลาดปราดเปรื่อง นี่เป็นการฝึกการรู้เท่าทันโลกภายในของตัวเอง ที่เต็มไปด้วยเสียงของอัตตาตัวตน ที่มีกระบวนการตีความ ตัดสินและการด่วนสรุปอัตโนมัติภายใต้กรอบความคิด ความเชื่อ และระบบคุณค่าเป็นพื้นฐาน และมีอิทธิพลต่อการแสดงออกและความสัมพันธ์ที่เรามีต่อโลก

เมื่อเราฝึกเท่าทันสิ่งนี้ในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆการได้ยินของเราจะเปลี่ยนไป ”เมื่อการได้ยินเปลี่ยน ชีวิตก็จะเปลี่ยน”

คอร์สนี้เหมาะสำหรับ:
1. ผู้ที่ต้องการเรียนรู้ ทำความเข้าใจกับตัวเอง ค้นหาแรงบันดาลใจ สิ่งที่เราให้คุณค่า และสำคัญต่อชีวิต
2. ผู้ที่ต้องการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ เรื่องความสัมพันธ์ และต้องการกลับไปฟื้นฟูดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดและครอบครัว
3. ผู้ที่ต้องการสร้างทีมงาน สามารถแปรความขัดแย้งไปสู่ความเข้าใจ และทำงานอย่าง "งานได้ผล คนเป็นสุข"
4. ผู้ที่สนใจแนวคิดเรื่อง Dialogue (สุนทรียสนทนา) และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงทั้งการทำงานและครอบครัว 


นำกระบวนกร โดย:  โอม รัตนกาญจน์

อดีตวิศวกรผู้หันมาทำงานพัฒนาตัวเองและครอบครัวให้มั่นคงและมีความสุข  มีประสบการณ์ในการนำกระบวนการ Dialogue ร่วมกับณัฐฬส วังวิญญู มาแล้วกว่า 3 ปี

ปัจจุบัน  กำลังศึกษาปริญญาโทด้านการเป็นกระบวนกร (Facilitator) สาขาการคลี่คลายความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงองค์กร ณ สถาบัน Process Work เมืองพอร์ทแลนด์ สหรัฐอเมริกา

"ผมรู้จักโอมมา 5 ปีและได้ร่วมงานกันนับตั้งแต่ก่อตั้งขวัญแผ่นดิน โอมเป็นกระบวนกรที่มีพัฒนาการรวดเร็วมาก มีความสามารถสูง ละเอียดและแม่นยำ เวลาทำกระบวนการ มันเหมือนกับเขากำลังบรรจงสร้างงานศิลปะที่งดงาม ประณีตและลึกซึ้ง ที่ช่วยนำพาผู้คนให้ได้สำรวจชีวิตตัวเองอย่างทะลุทะลวงถึงแก่น เรื่องราวที่เขาแชร์กับผู้คนมีพลังของความจริงแท้และความถ่อมตนเสมอ

ผมคิดว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่เข้าถึงการรับฟังระดับลึกได้อย่างน่าทึ่ง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนจำนวนมากในช่วงระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ผ่านมา" 

- ณัฐฬส วังวิญญู, ผู้ก่อตั้งสถาบันขวัญแผ่นดิน

ค่าลงทะเบียน: 
2,000 บาท/ท่าน (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%)

สอบถามและลงทะเบียน: 
087-000-2270 (ภาค) , 081-427-5255 (ตู่),
*รับสมัครจำนวนจำกัด กรุณาสมัครภายใน 23 ก.ค. 55
Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...