การแสงหาของคนขี้สงสัย ตอนที่ 1


การแสวงหาของคนขี้สงสัย ตอนที่ 1


สิบปีที่ผ่านมา ผมทำงานด้านการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้และการดูแลจิตใจของ คนในองค์กร ต่างๆ  บนพื้นฐานของการฝึกสติและการรับฟังเชิงลึก เพื่อสร้างความเข้าใจ แก้ไขความขัดแย้ง ให้กับกลุ่มคนและองค์กรต่างๆ ได้เกิดเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง ส่งผลเป็นเกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิต ทั้งในด้านทัศนคติและพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ดังที่มีคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งเกิดแรงบันดาลใจ ในการเรียนรู้และฝึกฝนตัวเองในการทำงานด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม

มีคนถามผม อยู่เรื่อยๆ ว่า ผมมาทำงานด้านนี้ที่ส่งผลต่อผู้คนในวงกว้างได้อย่างไร อะไรเป็นแรงบันดาลใจ หรือจุดพลิกผันในชีวิต ทำไมผมไม่เดินบนเส้นทางของวิศวกรที่ผมศึกษามา ผมมีภาษาการพูดหรือการขีดเขียนที่มีท่วงทำนองดังกวีได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ตกวิชาภาษาไทย ทำไมผมเลือกไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาทางเลือกแนวพุทธอย่างนาโรปะ (Naropa University)  เส้นทางชีวิตที่ดูผิดแผกแตกต่างจากคนทั่วไปนำมาซึ่งคำถามที่ผมย้อนถามและสืบค้นกับตัวเอง 



สำหรับผม “การเดินทางด้านใน” หมายถึง การค้นหาความเข้าใจชีวิตให้กับตัวผมเอง ผมคิดว่ามันมีจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ผมเริ่มจำความได้ ความเป็นเด็กขี้สงสัยและสนใจชีวิตของ ผมเองคงไม่ได้แตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เท่าไรนัก คำถามของผมเองก็ไม่ได้พิเศษพิสดารกว่าใคร แต่การเลือกค้นคว้าและแสวงหาคำตอบนั้นอาจแตกต่างกันไป ด้วยความเป็นเด็กหัวเมือง เติบโตที่เชียงราย มีลำธารไหลผ่านหน้าบ้าน มีป่าเล็กๆ เป็นสวนมะม่วงมะพร้าวอยู่หลังบ้าน หน้าบ้านมีบ่อน้ำและอ่างปลา ผมเคยสังสัย ว่าทำไมมดถึงหยุดทักทายกันคล้ายคน? ใครสร้างโลก? ทำไมกลิ่นตัวเราไม่เหมือนของหมา?  มีหอยทากตัวไหนใจร้อนจนเครียดตายบ้างไหม? ปลามีความสุขเย็นกว่าเราหรือเปล่า?

พอโตมากขึ้นก็สงสัยอีก ว่ามนุษย์คนแรกเป็นใคร โลกจะแตกไหม ดาวดวงไหนบ้างที่อยู่ได้และน่าอยู่   ทำไมผีไม่ชอบเด็กดื้อ  นกเหงาเป็นเหมือนคนไหม พอโตเป็นวัยรุ่นหน่อย ความสงสัยผมเริ่ม ขยายตัวว่า  ทำไมเราชอบมองผู้หญิงสวย? ทำไมเรากลัวหรืออาย?

เด็กๆ หลายคนคงมีคำถามเหล่านี้ในใจ และดูเหมือนไม่มีแก่นสารอะไร แต่มันทำให้เราเริ่มค้นหาคำตอบ ทั้งจากคำบอกเล่าของพวกผู้ใหญ่ หรือแนวคิดที่สืบทอดกันมาของความเชื่อพื้นบ้าน แต่ที่แน่ๆ ผมชอบคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ ที่นับวันก็ค้นพบและเข้าใจโลกของธรรมชาติและสสารได้อย่างน่าทึ่ง ผมหลงรักคำอธิบายและคำตอบที่ได้รับจากวิทยาศาสตร์ 



อย่างไรก็ตาม พอเติบโตขึ้น ความสงสัยและคำถามที่มาพร้อมกับความซับซ้อนก็ดูจะซับซ้อนมากขึ้น และดูเหมือนคำตอบจะอยู่นอกอาณาบริเวณที่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะคลอบคลุมได้ เช่น คำถามว่า “เราเกิดมาเพื่อทำไม?” เรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร?  เราคือใคร?  วิทยาศาสตร์ตอบแค่ว่า เราเกิดมาได้อย่างไร 
คำถามเหล่านี้เข้ามาในชีวิตช่วงที่ผมเรียนวิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมเบนความสนใจ จากหนังสือวงจรไฟฟ้ามาเป็นปรัชญาชีวิต จากแคลคูลัสชั้นสูงมาเป็นคู่มือมนุษย์ของท่านพุทธทาส
สำหรับผมแล้ว ด้วยความเป็นเด็กเรียนสายวิทย์ การตอบโจทย์ทางฟิสิกส์หรือคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การแก้สมการชีวิตภายในตัวเองนี่ยากมาก ความเข้าใจเชิงความคิดอ่าน ไม่เพียงพอต่อการแก้สมการเหล่านี้  ยิ่งอ่านก็ยิ่งสับสนว่าคำตอบที่ผมต้องการมีไหม การได้อ่าน งานของท่านพุทธทาสดูเหมือนจะให้ “คำตอบ” แต่ผมก็ยังเข้าไม่ถึง  อ่าน “สิทธารถะ” ของเฮอร์มาน เฮสเส และอาชญากรรมกับการลงฑัณฑ์ของดอสโตเยฟสกี้ก็ได้รสชาติและสีสันของชีวิตมาก แต่ก็ไม่มีคำตอบให้ตัวผมได้เต็มที่ 

นอกจากการอ่าน ผมยังค้นหาผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น การพูดคุยกับนักคิดรุ่นอา มีวิศิษฐ์ วังวิญญู และเพื่อนๆ ที่เป็นบรรดานักคิด นักอ่าน นักเขียนทั้งหลาย ตั้งคำถาม ชวนคุย คุ้ยค้นกับสิ่งที่เป็น ทำให้ผมได้ตั้งคำถามและสนทนาสืบค้น จนได้เรียนรู้เนื้อหาของชีวิต  แนวคิดทางการเมืองและสังคม อย่างเข้มข้นและกว้างขวาง แม้ว่าความสงสัยลึกๆ แล้วจะมา หนักด้านแนวคิดด้านในมากกว่ากระแสการเมือง ราวกับว่าสัญญาณนักบวชของผมคงมาแรงกว่านักอุดมคติที่ต่อสู้ทางการเมือง
ไม่เพียงเท่านั้น อีกช่องทางของการค้นหา คือ การที่ผมกระโจนเข้าหาชีวิตที่อยู่นอกกรอบของความเป็น เด็กดี เรียบร้อย ของความสำมะเลเทเมาและปฏิเสธความรับผิดชอบใดๆ ที่พึงทำ เหมือนเป็นการค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง เสียงของตัวเอง ความต้องการของตัวเอง ที่อิสระจากอิทธิพลของสังคม ผมกินเหล้าเมาหัวราน้ำ เที่ยวกลางคืนอย่างเมามันส์ ซึมซับรสชาติชีวิตที่ตัวเองไม่เคยได้ลิ้มรส เป็นเช่นนั้นอยู่หลายปีทีเดียว จนกระทั่งผลการเรียนตกต่ำจวนเจียนรีไทร์ แต่ก็เอาตัวรอดมาได้ พอเรียนจบ ผมจึงตัดสินใจค้นหาคำตอบที่ยังสงสัยด้วยการออกบวช และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้านในที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ



ผมคิดว่าเราทุกคนมีความขี้สงสัย สนใจใคร่รู้เป็นพื้นฐานของชีวิต เด็กทุกๆ คนมีคำถามเหล่านี้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราแต่ละคนจะเลือกค้นหาคำตอบด้วยวิธีไหนหรือเส้นทางไหน นี่คงไม่ใช่เรื่องผิด หรือถูก ไม่ใช่การมาหาว่าหนทางหรือคำตอบของใครถูกกว่าของใคร  เราทุกคนต่างมีทางเลือกที่จะค้นหาว่าเราคือใคร เกิดมาทำไม จะเป็นประโยชน์ต่อตัวเองและโลกใบนี้ได้อย่างไรเพื่อที่ จะดำเนินชีวิตอย่างมีความหมายและคุณค่า ที่สอดคล้องสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เรารัก ชีวิตที่เราอยากจะมี  การมีชีวิตที่เป็นไปตามคำตอบสำเร็จรูปของสังคมอาจทำให้รู้สึกปลอดภัยและมั่นคง  แต่สำหรับหลายๆ คน จิตวิญญาณภายในอาจเริ่มเหี่ยวเฉา เบื่อเซ็ง และต้องการกลับมามีชีวิตที่อิสระ และมีความหมายอีกครั้งหนึ่ง



ไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะค้นหาว่าเราต้องการอยู่เพื่ออะไร อยู่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม ชีวิตที่ เลิกค้นหา เลิกสนใจใคร่รู้ต่างหาก ที่ดูน่าเศร้า หากจะลองมองไปยังบั้นปลายของชีวิต ผมคงไม่ ยอมตายลงพร้อมกับคำตอบที่เป็นของคนอื่นเป็นแน่ ผมยินดีตายลงไปพร้อมกับคำถาม และการค้นหาของผมเอง แม้คำตอบจะขาดพร่องไม่สมบูรณ์ก็ตาม o

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...