เด็กน้อยภายใน



อะไรทำให้เราโหยหาความอ่อยเยาว์ นอกจากการดูเอ๊าะๆอ่อนกว่าวัยทางกายภาพแล้ว มีอะไรที่มากกว่านั้นอยู่เบื้องลึกของจิตใจเราหรือเปล่า ที่ทำให้เราไม่อยากเผชิญหน้ากับคำว่า ดูแก่จัง และพึงพอใจกับคำว่า ดูเด็กอยู่ ลองมาหาคำตอบกัน


"โอ้โฮ ! พี่หน้าเด็กจังเลย"

"เอ๊ย ! ไม่ได้เด็กแต่หน้านะจ๊ะ หัวใจและจิตวิญญาณ ก็ยังเด็กอยู่เสมอจ๊ะ” :)


เมื่อคนเราอายุมากขึ้นหรือพูดง่ายๆว่าแก่ลง เวลามีใครมาทักว่าเราดูอ่อนกว่าวัยหรือหน้าเด็ก มันก็มักจะ ทำให้หัวใจชุ่มชื่นขึ้นมา กระฉับกระเฉงได้ทั้งวัน อันนี้คงเป็นสัจธรรมของคนอายุเกินเลข 4 ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย อะไรทำให้เราโหยหาความอ่อยเยาว์ นอกจากการดูเอ๊าะๆอ่อนกว่าวัยทางกายภาพแล้ว มีอะไรที่มากกว่านั้นอยู่เบื้องลึกของจิตใจเราหรือเปล่า ที่ทำให้เราไม่อยากเผชิญหน้ากับคำว่า "ดูแก่จัง" และพึงพอใจกับคำว่า "ดูเด็กอยู่"

ความแก่ และความเป็นเด็กนั้น แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิงราวกับเป็นปลายขั้วสองด้านของเส้นตรง A_______________B กระนั้นหรือ ? ฤาเราจะต้องเลือกเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ นี่เป็นคำถามที่ผุดขึ้นมาในใจเช้านี้

ย้อนรำลึกกลับไปที่ความรู้เก่าๆซึ่งเคยศึกษามาเกี่ยวกับจิตวิทยาเพื่อการเข้าใจและสื่อสารกับเด็ก ตั้งแต่สมัยลูกยังเล็กและเราเป็นแม่โฮมสคูลเลี้ยงลูก 3 คน มาวันนี้ลูกๆโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันไปหมด พอจะรื้อฟื้นความรู้และความทรงจำเก่าๆที ก็ต้องไปสืบค้นในโฟลเดอร์สมองชื่อ "เรื่องเล่า" ซึ่งเก็บอยู่ในแผงวงจรประสาทที่ชื่อว่า "วันวาน" "Past Narratives, Future Dreams" อยู่ๆประโยคนี้ก็โผล่แว้บเข้ามาในใจ

"เมื่อวานก็แค่เรื่องเล่า ส่วนพรุ่งนี้เป็นเพียงความฝัน" อันที่จริงประโยคนี้มันมีนัยยะทางจิตวิทยาสาย คาร์ล ยุง ที่พูดถึงเรื่อง "เด็กน้อยภายใน" ซึ่งเป็นจิตเก่าแก่ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรม การแสดงออก และสุขภาพกาย-ใจของเราตลอดชีวิต

ไม่ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่และแก่ชราลงเพียงใด ไอ้เจ้าเด็กน้อยที่อยู่ข้างในตัวเราก็ไม่เคยโตและไม่เคยตาย เป็นเจ้าหนูอมตะ เป็น Eternal child ที่เล่นซ่อนแอบอยู่เบื้องหลังรูปลักษณ์ภายนอกของเรา บ่อยครั้งทีเดียวที่ไอ้ตัวเล็กภายในของเรามันงอแงอาละวาดไม่รู้เรื่อง เรียกร้องความเอาใจใส่และความสนใจไม่หยุดหย่อน แถมยังมีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการเรียนรู้โลกอย่างไม่มีวันสิ้นสุดอีกด้วย

เราทุกคนล้วนโตขึ้นมาพร้อมๆ กับเด็กน้อยภายในหลายตัวหลายบุคลิก เจ้าหนูเหล่านั้น เล่นเป็นผู้กำกับการแสดงในละครชีวิตของเราตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อไรที่เราอยู่ในโหมดปลอดภัย มีความสุข และกราฟชีวิตสมดุลดี ผู้กำกับน้อยภายในก็จะมอบเวทีด้านแสงสว่างให้เรา แต่หากเมื่อใดที่เราเข้าสู่โหมดปกป้อง มีความเครียดและเสียสมดุลชีวิต ไอ้เจ้าตัวเล็กข้างในเราก็จะออกโรงแสดงบทด้านมืด หรือ Shadow aspect อย่างรวดเร็ว และเป็นธรรมชาติเสียจนเราตระหนักตามไม่ทันทีเดียว


ปฏิบัติการของเจ้าหนูด้านเงามืดนี่เอง ที่บางครั้งทำให้เราเจ็บป่วยโดยหาสาเหตุทางการแพทย์สมัยใหม่ไม่ได้ ความป่วยไข้ที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งหมอเองก็ยากที่จะระบุสาเหตุและชื่อโรค การเจ็บป่วยแบบนี้เรียกตามศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Somatization คือการที่จิตต้องการปลดปล่อยความคับข้องอึดอัดขัดแย้งที่อยู่ข้างใน แต่หาช่องทางปลดปล่อยไม่ได้ ก็เลยสำแดงออกมาผ่านการประท้วงทางร่างกาย เกิดเป็นอาการเจ็บนั่นปวดนี่ เมื่อยล้าอ่อนแอสิ้นหวัง เรื้อรังนานมากเข้าก็สามารถทำให้ป่วยรุนแรงจริงๆ เช่นมะเร็งได้เหมือนกัน

แต่อาการเบื้องต้นซึ่งเกิดจากความคับข้องไร้สุขของเจ้าหนูภายในนั้น แสดงออกในรูปแบบพลังงาน ไม่จะเรียก "ออร่า" หรือจะเรียก "โหงวเฮ้ง" หรือจะเรียกว่า "สีหน้า" ก็แล้วแต่ ตัวเราอาจจะไม่รู้สึกและไม่รู้ตัว แต่ผู้คนที่อยู่ข้างๆ เรา เขาสามารถสัมผัสรับรู้ถึงพลังงานที่เจ้าหนูภายในของเราแผ่ออกไปได้

ถ้าเขาสัมผัสพลังงานด้านแสงสว่างของเด็กน้อยในตัวเรา เขา

อาจจะทักเราว่า "วันนี้พี่ดูเด็กจัง" หรือ "พี่ดูสดใสร่าเริงจังเลย" แต่ถ้าเขาสัมผัสเจ้าหนูเงามืด เพื่อนสนิทอาจจะทักเราว่า "วันนี้เธอดูเหนื่อยๆและหน้าหมองไปนะ" หรือถ้าไม่ใช่เพื่อนสนิทเขาอาจวิจารณ์ในใจเงียบๆว่า "วันนี้ยัยนี่ดูแก่จัง"

ไอ้เจ้าเด็กน้อยภายในของเรานั้น ไม่ได้มีตัวเดียวหรือบุคลิกเดียว นอกจากจะมีเจ้าหนูปกติธรรมดาแล้ว ข้างในเราแต่ละคนยังซ่อนเจ้าหนูผู้เหงาหงอยโหยหารัก เจ้าหนูผู้บาดเจ็บที่เต็มไปด้วยบาดแผลในใจ เจ้าหนูไร้เดียงสาผู้ไว้วางใจโลกอย่างไร้เงื่อนไข เจ้าหนูมหัศจรรย์ฉันทำได้ เจ้าหนูพิทักษ์ธรรมพิทักษ์โลก และเจ้าหนูอื่นๆ อีกหลายบทหลายบาท ซึ่งจะออกมาวาดลวดลายบนเวทีตามกาละ และจังหวะที่สิ่งกระตุ้นภายนอกกระตุกให้เขาออกมา ถ้าสิ่งกระตุ้นไปสะกิดถูกด้านแสงสว่างของเจ้าหนูตัวใดตัวหนึ่ง เราก็จะเป็นผู้ใหญ่ใจดี น่ารัก ขี้เล่น มองโลกด้วยความหวังอย่างสร้างสรรค์ แต่ถ้าเมื่อไรตัวกระตุ้นทำงานผิดที่ผิดทาง ไปสะกิดถูกอดีตด้านมืดของเจ้าหนูซึ่งกำลังนั่งร้องไห้ หรือแอบดิ้นทุรนทุรายอยู่ข้างในตัวเรา เงาดำของเจ้าหนูตัวนั้นก็จะสะท้อนผ่านบุคลิก สีหน้า น้ำเสียง พฤติกรรม ตลอดจนวิธีคิดของเราออกมา

ไม่ว่าอายุตัวเลขของเราจะเพิ่มขึ้นเท่าใด เจ้าหนูขี้เหงาก็ไม่มี วันหายเหงา เจ้าหนูบาดเจ็บก็ยังคงนั่งลูบคลำบาดแผลอยู่ตรงนั้น เจ้าหนูขี้เล่นก็ยังโบยบินเป็นปีเตอร์แพน ปฏิเสธการเติบโตเป็นผู้ใหญ่

เอาละ เช้านี้ลองไม่ส่องกระจกแต่งหน้าสักวัน แต่จะลองส่องกระจกในใจเพื่อค้นหาเด็กน้อยภายในดู อยากจะดูแลให้เขามีความสุข มีความสมดุล ให้เขาได้กินอิ่มนอนหลับอย่างปลอดภัย เพื่อที่รัศมีหรือแสงออร่าของเจ้าหนูมหัศจรรย์ภายใน จะได้ฉายโชนออกมาที่ใบหน้าเรา ริ้วรอยและตีนกาจะไม่มีความหมาย เพราะดวงตาของเราจะยังสดใสด้วยแววขี้เล่น และอยากเรียนรู้โลก หัวใจที่เหนื่อยง่ายขึ้นตามวัย ก็จะไม่ยอมแพ้กับจังหวะเต้นที่อ่อนล้าลง ยังคงถวิลหาความเริงร่า และความประหลาดใจต่อการมาเยือนของวันใหม่ ความเหงาและประสบการณ์เจ็บร้าวที่เคยผ่านพบ จะถูกขับไปอีกด้าน ไปสู่ความเห็นอกเห็นใจต่อความทุกข์ของผู้อื่นอย่างไม่ตัดสิน และไม่เพ่งโทษ ความผิดถูกหยาบๆ นั้นอาจจะมีอยู่ แต่ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง และการให้อภัยเป็นจิตร่วมของจักรวาล และเป็นปัญญาญาณของเด็กน้อย

ปีเตอร์แพนข้างในของเรากำลังบอกเราว่า อย่ากลัวเงาไปเลย เจ้าพวกเงามืดนั่นน่ะ มันก็แค่เด็กขี้เหงา ขี้กลัว อยากมีเพื่อน อยากได้รับความรักความเอาใจใส่ ไม่ต้องทำอะไรมากหรอก ก็แค่ยอมรับเขาเป็นเพื่อนเล่น แล้วเล่นกับเขาดีๆ เมื่อเขาหายเหงาหายกลัวเมื่อไร โลกภายในของเราก็จะมีแต่ความเยาว์แห่งแสงสว่าง

ความเป็นเด็ก และความชราเป็นมิติซ้อนทับที่ละเอียดอ่อน จิตวิญญาณของเราไม่ได้เป็นเส้นตรงแบบ A____B หรือเรียงลำดับตัวเลขตามอายุที่เรานับขานกัน หนึ่ง สอง สาม สี่สิบ ห้าสิบ หากแต่ความเป็นเด็กและความเป็นผู้ใหญ่ มันเป็นพลังงานซ้อนพลังงานที่โคจรในกันและกัน อย่างเป็นเอกภาพ และไม่มีสิ้นสุด

เขียนๆ มาถึงตรงนี้ จู่ๆ เจ้าหนูข้างในก็ปรากฏตัวขึ้นมาสะกิดว่าพอแล้ว หยุดเขียนได้แล้ว หนูอยากออกไปเที่ยวเล่นแล้ว ... เอาละ แม้หน้าตารูปลักษณ์ภายนอกเราจะดูเป็นคนจริงจัง เคร่งเครียด รับผิดชอบ แถมแบกภาระหน้าที่ไว้บนบ่าไหล่ทั้งสองอย่างหนักอึ้งมานาน

วันนี้ขอทวงคืนพื้นที่ให้เจ้าหนูภายในได้เล่นตามใจสักวันเถอะ

พบกันและมาเล่นกันใหม่คราวหน้านะ :)

- น้าส้ม


ที่มา - http://www.women40plus.com/all-stories/somporn/61-2010-08-26-08-51-17.html

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...