การเปิดเผยและเปราะบางของ “ครูที่แท้”


"ครูส่วนใหญ่ที่นักเรียนประทับใจไม่ใช่ครูที่สอนเก่ง แต่เป็นครูที่จริงใจ เปิดเผย ไม่มีเกราะกำบัง"

ในงานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 2 เรื่อง จิตตปัญญาศึกษา: ทางเลือก หรือ ทางรอดของสังคม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-4 ธันวาคมนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ คำถามสุดฮิตของผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 400 คนจะเป็นไปในทำนองว่า การนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ต่อจะทำอย่างไร มีเครื่องมืออะไร กระบวนการอย่างไร
ถ้าจะนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนวิชาในกระแสหลักอื่นๆ ต้องออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างไร ฯลฯ แต่ก็มีคำถามจำนวนหนึ่งที่ย้อนสวนทางกลับมาถามถึงตัวผู้สอนเองถึง “ความเป็นครูที่แท้จริง” นั้นเป็นอย่างไร เพราะความเป็นผู้สอนนั้นแยกไม่ออกจากสิ่งที่สอน ซึ่งมีผลโดยตรงต่อกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ณัฐฬส วังวิญญู จากสถาบันขวัญแผ่นดิน ผู้ร่วมจัดเวิร์กชอป “กล้าสอน: สำรวจพื้นภูมิภายในแห่งความเป็นครู” ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งของการประชุมครั้งนี้กล่าวถึงเวิร์กชอปของเขาว่า เพื่อพาผู้สอนเข้าไปสำรวจกาย ใจ และจิตของตน เพราะผู้สอนด้านจิตตปัญญาศึกษาต้องเข้าใจโลกภายในของตัวเองดีพอ โดยอาศัย “ความรู้ตัว” ซึ่งเป็นความรู้ที่ท้าทายและแฝงเร้นกว่าความรู้อื่นทั้งหมดที่อยู่ภายนอก “ส่วนใหญ่เวลาเราพูดเรื่องกระบวนการเรียนรู้ด้านในหรือจิตตปัญญา คนมักคิดถึงเรื่องเทคนิควิธีการ ทำอย่างไร จะเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์บ้าง ผมว่าเทคนิควิธีการก็สำคัญ ต้องมีรูปแบบบางอย่างบ้าง เพราะการทำสมาธิก็ยังมีรูปแบบ แต่ถึงที่สุดแล้ว ตัวตนภายในของครูต้องไปถึงภาวะที่ไม่มีรูปแบบ ไม่มีฟอร์ม มันมีคำถามบางคำถามว่า เราต้องพัฒนาตัวเองแค่ไหนก่อนที่เราจะไปช่วยเหลือคนอื่นได้ อย่างคนเรียนปริญญาโทจิตตปัญญาศึกษา จบแล้วจะไปสอนคนอื่นได้หรือยัง”

ณัฐฬสได้แรงบันดาลใจจากจากหนังสือชื่อ “Courage to Teach” (กล้าสอน) ของพาร์กเกอร์ พาล์มเมอร์ ซึ่งเขากำลังแปลเป็นภาษาไทยอยู่ ณัฐฬสบอกว่า ในความคิดของพาร์เกอร์ พาล์มเมอร์ ครูที่ดี คือครูที่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น เปิดเผย และเปราะบางได้กับความเป็นตัวเองที่ตัวเองไม่ชอบ “มันไม่ใช่เรื่องเทคนิคการสอน แต่เป็นการยอมรับความเป็นตัวเอง ยอมรับข้อจำกัดของตัวเอง หนังสือใช้คำว่า identity กับ integrity ไอเดนทิตี คือ เราคือใคร จุดแข็งของเรา ศักยภาพของเราคืออะไร ส่วนอินทิกริตี คือความเป็นไปได้ในด้านที่เราไม่มี เราก็ต้องเรียนรู้ การยอมรับภาวะความเป็นครูข้างในของเราจะเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่เรามีกับลูกศิษย์ กับโลก ซึ่งผมรู้สึกว่านี่คือกัลยาณมิตรที่แท้จริง และกัลยาณมิตรจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง”

หนังสือ “กล้าสอน” บอกอีกว่า ครูส่วนใหญ่ที่นักเรียนประทับใจไม่ใช่ครูที่สอนเก่ง แต่เป็นครูที่จริงใจ เปิดเผย ไม่มีเกราะกำบัง ส่วนครูก็มักคิดว่า การเปิดเผยเป็นเรื่องยาก เหมือนมีกำแพงกั้นอยู่ และกลัวว่า หากเปิดเผยความเป็นตัวตนออกไปจะทำให้สูญเสียบางสิ่งบางอย่าง แต่ตราบใดที่เราไม่สามารถสร้างสะพานความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ได้ การเรียนรู้ก็จะยังเป็นการเรียนรู้แบบเดิมๆ “การทำงานกับตัวตนของเราเป็นเรื่องที่ทำได้ทันที ไม่เหมือนการฝึกทักษะต้องใช้เวลา การทำงานกับตัวตนคือการสืบค้นว่าโลกภายในของเราเป็นอย่างไร ส่วนภาษาที่ใช้สื่อสารถึงโลกภายในก็จะเป็นภาษาของความรู้สึก เช่น รู้สึกกลัว รู้สึกอาย ต้องใช้ภาษาแบบนี้สื่อสารมันออกมา เมื่อครูกล้ายอมรับและเปิดเผยโลกภายในต่อศิษย์ จะเป็นการเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้รู้ - ผู้เรียน เป็นผู้เรียน – ผู้เรียน ความกล้าเป็นพลังชีวิตที่เกิดจากการเผชิญหน้ากับตัวเอง ดังนั้นจิตตปัญญาศึกษาคือการทำงานกับด้านมืด ด้านที่กัดกินเราและคนในองค์กร” ณัฐฬสขยายความ


ณัฐฬสเล่าถึงวีธีการสอนครูของพาร์กเกอร์ พาล์มเมอร์ว่า “เขาไม่จัดอบรมเทคนิค แต่จัดรีทรีต (ทำสมาธิภาวนา) เพื่อให้ครูรีแล็กซ์ (ผ่อนคลาย) เพื่อมารีเฟล็กต์ (สะท้อนการเรียนรู้) เพื่อรีคอนเน็กต์ (สร้างความสัมพันธ์ใหม่) กับตัวเอง ที่เรียกว่าครูภายใน เสียงภายใน ซึ่งเป็นที่มาของพลังชีวิต สิ่งที่อยู่ภายในนี่เองเป็นสิ่งที่ทำให้เขากล้าสอน”

ในเวิร์กชอปครั้งนี้ ณัฐฬสเริ่มด้วยการนำผู้เข้าร่วมทำสมาธิประมาณ 10 นาที เพื่อให้หันกลับมารับรู้ตัวตนความเป็นครูภายในตนเอง จากนั้นจึงชวนคุยถึงแนวคิด “กล้าสอน” จากนั้นมีการสอนรำมวยจีนสั้นๆ เป็นการฝึกความเข้าใจเรื่องพลังสามฐาน กาย ใจ และจิต ทำให้คนได้รู้ว่า จิตวิญญาณอยู่ในร่างกาย จากนั้นก็จับคู่คุยกันแบบสุนทรียสนทนา และจบด้วยการสะท้อนการเรียนรู้ในวงใหญ่

ในเวิร์กชอป ณัฐฬสบรรยายถึงความเป็นครูที่แท้ว่า ครูควรมีภาวะของชีวิตที่เป็นปกติ คือสามารถสร้างพื้นที่ของความปลอดภัย อิสระ ความสบายๆ ความเปิดเผย ไว้วางใจ มีไมตรี เพราะความรู้ที่เกิดจากการซึมซับ ประทับใจ จะคงอยู่นานกว่าความรู้ที่ท่องจำ แต่หากครูรู้สึกกลัว มีภัยคุกคาม ชีวิตก็จะอยู่ในโหมดของการปกป้อง เช่น ความก้าวร้าว ซึ่งเกิดขึ้นมากในปัจจุบัน “ครูหรือมหาวิทยาลัยที่มีการปกป้องจะไม่สามารถสร้างภาวะปกติ ทำให้การเรียนรู้เกิดได้ยากมาก ครูควรสร้างพื้นที่ความปลอดภัยด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง เมื่อครูสามารถรับฟังด้วยหัวใจแห่งความกรุณา ไม่ด่วนสรุป ไม่ตัดสิน ไม่แก้ไข ไม่เทศน์สอน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ เคารพความคิดนักเรียน จิตวิญญาณนักเรียนจะเติบโตงอกงาม

ณัฐฬสสรุปว่า “เราต้องค้นหาว่า ลูกศิษย์แคร์อะไร เขาควรเลือกที่จะได้ทำอะไรที่แท้จริงจากใจ จะทำให้เกิดพันธะสัญญา การเลือกทำให้เขารับผิดชอบตนเอง ทำอะไรที่อยากทำจริงๆ ฟังว่าเขาอยากไปไหน ซึ่งเมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทาย เขาจะผ่านพ้นไปได้ งานที่ครูทำคือการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เหมือนกับแปลงเพาะ เราไม่ต้องไปดูทุกเมล็ดพันธุ์ เราแค่ดูแลแปลงเพาะ หรือการสร้างพื้นที่แห่งสติ การรู้ตัวให้ดี เมล็ดพันธุ์หรือลูกศิษย์ก็จะดีได้”

หมายเหตุ จากงานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษาครั้งที่ 2 เรื่องจิตตตปัญญาศึกษา: ทางเลือกหรือทางรอดของสังคม? วันที่ 3 ธันวาคม 2552 Workshop “กล้าสอน: สำรวจพื้นภูมิภายในแห่งความเป็นครู” โดย ณัฐฬส วังวิญญู และทีมงาน สถาบันขวัญแผ่นดิน

ที่มา: http://www.ce.mahidol.ac.th/content/index.php?option=com_content&view=article&catid=39:2009-06-20-01-04-00&id=222:2009-12-05-03-37-29&Itemid=46

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...