การนับถือกันคือแก่นแกนของความรัก


จากคอลัมน์ “สนทนาประสาธรรม”
วารสารพลัม ฉบับที่ 10 "กุหลาบประดับดวงใจ"
สัมภาษณ์และเรียบเรียง : วรจิตรา

เนื่องด้วยวารสารพลัมฉบับนี้ว่าด้วยเรื่อง “แม่ๆ” เราจึงมองหาคุณแม่ที่น่าจะมีประสบการณ์กับลูกๆ อย่างช่ำชองมาร่วมแลกเปลี่ยนความรักความเข้าใจ หลังจากปรึกษากองบรรณาธิการและค้นหาข้อมูล เราก็พบกับ “แม่ส้ม สมพร อมรรัตนเสรีกุล” ผ่านโลกอินเตอร์เน็ต เธอดูเป็นคุณแม่ที่ไม่ธรรมดา เพราะนอกจากจะเลี้ยงดูและให้การศึกษาโฮมสคูลกับลูกทั้ง ๓ คนด้วยตัวเองแล้ว เธอยังสนใจในเรื่องศาสนา ปรัชญา ศิลปะ กวี โยคะ และไทชี่ วารสารพลัมฉบับนี้จึงชวนแม่ส้มมาร่วม “สนทนาธรรม” ด้วยหัวใจใคร่รู้
หลังจากติดต่อกันทางอีเมล์ เรานัดพบกันที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งแถวสามย่าน เธอดูเป็นผู้หญิงที่สุขุม มียิ้มน้อยๆ ที่ริมฝีปาก พร้อมกับท่าทีกระฉับกระเฉงและเป้หนึ่งใบ (ซึ่งรู้มาทีหลังว่าเป็นของลูกสาว) ดูเธอเหนื่อยและหงุดหงิดเล็กน้อยจากการเดินทางอ้อมถนนหลายสายเพื่อมาให้ถึงที่นัดพบ แล้วเราก็ค่อยๆ ทำความรู้จักกัน

แม่ส้มเป็นลูกคนจีน เกิดและใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ เธออยู่กับอาม่าตั้งแต่เด็ก อาม่าของเธอเป็นผู้นำชุมชนโรงเจ บ้านของเธอจึงเหมือนโรงเจขนาดย่อม เธอดมกลิ่นควันธูป เทียน และเคารพรูปปั้นเทพมหายานมาตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อเติบโตขึ้น เธอสนใจศิลปะและปรัชญาจึงเข้าเรียนที่คณะจิตรกรรม สาขาวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ว่างๆ ก็หาเวลาไปนั่งเล่นๆ เรียนวิชาเกี่ยวกับ ปรัชญา จิตวิทยา และศาสนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนถึงปี ๒ ที่บ้านล้มละลาย เธอต้องหาเงินเรียนเอง จึงเปลี่ยนมาเรียนมัณฑนศิลป์ ทำงาน และเปิดโรงเรียนสอนศิลปะ “สมุดไท” ไปพร้อมๆ กัน

ชีวิตช่วงนั้นเป็นอย่างไรคะ
ตอนนั้นสนใจเกี่ยวกับปรัชญาเยอะ สุดโต่งนะ วันๆหมกมุ่นกับหนังสือ สะพายย่าม อ่านสิทธารัตถะ แล้วก็นั่งดูน้ำทั้งวัน แม่ส้มคิดว่าวัยรุ่นทุกยุคน่าจะคล้ายกัน (ยิ้ม) ระหว่างนั้นก็ข้ามไปเรียนธรรมศาสตร์ วิชาไหนที่เราชอบก็เข้าไปเรียน จริงๆ เป็นวิธีการเรียนที่ดีนะ เพราะว่าในห้องเลคเชอร์มีเก้าอี้ว่างเยอะมาก แล้วครูก็ต้องสอนอยู่แล้วใช่ไหม ถ้ามีหูเพิ่มอีกซัก ๓-๔ หู ก็ดีจะตาย พออาจารย์เห็นคนเยอะก็คึกคัก
พอปี ๒ ต้องหาเงินส่งตัวเองและน้องเรียน เราก็ไปสมัครงานด้านหนังสือ เพราะเป็นคนชอบหนังสือ เขารับสมัครคนทำอาร์ตเวิร์ค เราก็ไปทำ แล้วก็เริ่มเปิดโรงเรียนศิลปะ สอนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สอนจนส่งตัวเองเรียนได้ แต่ก็ไม่รู้สึกลำบากนะ เพราะเรามีธรรมชาติของการสนใจใฝ่รู้

จริงๆ แล้วเด็กทุกคนเขามีธรรมชาติของความสนใจใฝ่รู้ ไม่อย่างนั้นเขาอยู่ไม่รอดหรอก ความอยากรู้อยากเห็นช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์จนเกิดการอยู่รอดตามธรรมชาติได้ แต่พอมีระบบการศึกษาซึ่งบอกเด็กว่า เธอต้องรู้อย่างนี้ๆ มันก็เหมือนกับว่าให้เด็กนั่งเฉยๆ แล้วจะมีคนป้อนอาหารให้ พอโดนป้อนนานๆ เข้า ก็ไม่รู้ว่าอยากกินอะไร ความสนใจใคร่รู้ของเขาก็ถูกลดทอนลงไป แล้วถ้าเด็กอยู่กับครอบครัวที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้เขาได้ซิกแซ็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ เด็กก็จะพลาดโอกาสการเรียนรู้หลายๆ อย่าง เช่น เด็กอยากรู้ว่าไอ้เสียงจุ๊ๆ นี่มาจากไหน แต่มองหาเท่าไหร่ก็ไม่เจอตัวจิ้งจก เพราะว่าบ้านสะอาดมากเลย หรือ เท้าเด็กไม่เคยได้สัมผัสพื้นผิวอื่นเลยนอกจากผ้า เพราะถอดรองเท้ามาก็มีถุงเท้าตลอด เป็นต้น

ตัวแม่ส้มเองมีโอกาสได้เรียนแบบซิกแซ็กเยอะไหม
มีโอกาส เพราะว่าเราอยู่กับอาม่าซึ่งเป็นคนใจดี ใจเย็น ปล่อยๆ สบายๆ ไม่จู้จี้ ไม่พูดมาก และด้วยความที่อยู่กับอาม่าสองคน เราก็ต้องช่วยเหลือตัวเอง อยากกินอะไรก็ไปหากินเอง และอาม่าเป็นผู้นำศาสนาในชุมชน คือเขาจะเหมือนแม่ชี เช้าสวดมนต์ เย็นก็ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่โรงเจ บรรยากาศในบ้านก็จะเงียบๆ โตมากับเสียงอุปกรณ์สวดมนต์ ก๊อกๆๆ กิ๊งๆๆ และคนละแวกบ้านก็เป็นคนจีนหมด เราก็พูดภาษาไทยไม่ได้ จนเข้าประถมนั่นแหละถึงพูดไทย เวลามีงานไหว้พระจันทร์ ๓ วัน ๗ วัน โต๊ะไหว้เจ้าก็เบ้อเริ่มเลย สนุกมาก

ตัวแม่ส้มหันมาสนใจเรื่องการศึกษาโฮมสคูลได้อย่างไรคะ
ก่อนหน้านี้แม่ส้มสนใจเรื่องจิตวิทยาทั่วไป แต่พอมีลูก ก็เลยสนใจจิตวิทยาเด็กมากขึ้น แม่ส้มหันมาศึกษาพัฒนาการทางด้านศิลปะของเด็ก ศิลปะเป็นพัฒนาการเฉพาะที่แตกต่างจากสายการศึกษาอื่นๆ เช่นว่า เด็กอายุเท่านี้ เขาจะมีพัฒนาการเหมือนกันหมดทั่วโลก เขาก็จะวาดรูปออกมาแบบนี้ เราจะพัฒนาไปตามขั้นตอนอย่างไร

ประกอบกับ เราพาลูกคนแรกเข้าเรียนในโรงเรียน เขาดูแย่และเครียด เห็นแล้วเสียดายความคิดสร้างสรรค์และความเป็นตัวของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนต้องการจะสอนให้เด็กมีเหตุผล แต่ครูเห็นเด็กเดินอยู่ จู่ๆ ก็เอาเหล็กฟุตตีตาตุ่ม เพราะเชือกรองเท้าหลุด มันก็เลยเป็นคำถามสำหรับลูกว่า ตอนเขาอยู่บ้าน เราสอนให้เขาคิดหาเหตุผล หาทางเลือก แต่พอไปที่โรงเรียน เมื่อเขาทำเชือกรองเท้าหลุด ถ้าเขาล้ม เขาก็เจ็บเอง แต่แทนที่ครูจะบอกให้ผูกเชือกรองเท้า ครูย่องมาข้างหลังแล้วเคาะตาตุ่ม เขาเจ็บและไม่เข้าใจว่าทำผิดอะไร

สิ่งที่ไม่เห็นด้วยอีกเรื่องก็คือ ความปลอดภัยทางกายภาพ ตอนนั้นครูขว้างเหล็กฟุตข้ามหัวเด็กทั้งห้อง สมัยรุ่นแม่ส้มจะขว้างแปรงลบกระดาน ขว้างชอล์ก ที่จริง แค่ขว้างก็ผิดแล้ว เพราะการขว้างก็เป็นการสอนเรื่องความก้าวร้าว สิ่งที่ครูทำเป็นตัวอย่างเหล่านี้จะบ่มเพาะในระดับจิตใต้สำนึกของเด็กมาก ฉะนั้นมันจะยาก ถ้าเราจะพูดถึง “สันติ” กันในบ้าน แม่ส้มก็เลยตัดสินใจสอนหนังสือลูกเอง

แม่ส้มมีลูก ๓ คนใช่ไหมคะ
ค่ะ ลูกชายคนโตชื่อฟ้าใส อายุย่าง ๒๔ ปีแล้ว ลูกชายคนที่สองชื่อสายเมฆ อายุ ๑๘ ปี คนเล็กนี่ลูกสาว อายุ ๑๖ ปี แม่ส้มสนิทกับลูกมาก ถือว่าเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดในจำนวนเพื่อนที่มีอยู่บนโลกใบนี้

ถือว่าเป็นเพื่อนสนิท?
เป็นเพื่อนสนิท มีลูกเป็นเพื่อนสนิท มีอะไรก็คุยกับเขา มีปัญหาชีวิต มีปัญหากับพ่อเขา ก็คุยกับเขา ลูกเป็นคนแนะนำวิถีทางให้เรา อย่างลูกชายคนโต ฟ้าใสก็ตัดสินใจไปทำงานเรือ Grand Princess Cruise เมื่อ ๒ ปีที่แล้ว ได้เดินทางไปท่าเรือต่างๆ ๒๐-๓๐ ประเทศได้

ดูสนุกดีนะคะ
ก็ผจญภัย แต่ไปเป็นจับกัง ไม่ได้ไปเที่ยว ลงท่านึงก็อยู่ได้แป๊ปเดียว แต่เราก็คุยกันทางอินเตอร์เน็ตเรื่อยๆ เมื่อก่อนเราก็คุยกับลูกผ่าน ICQ ลูกอยู่ข้างบน แม่อยู่ข้างล่าง เราก็ “โอ๊ะ โอ” คุยกัน ต่อมาก็คุยผ่าน MSN บางทีคุยกันแบบนี้กลับคุยได้ลึกกว่านั่งคุยกันนะ เพราะมันมีบางอย่างที่การเขียนมันไม่เหมือนกับการนั่งเผชิญหน้า ช่วงหลังๆ เราก็เขียนอีเมล์คุยกันในเรื่องที่มันลึกขึ้น ตัวเขาเองก็โตขึ้นด้วย

ตอนนั้นฟ้าใสบอกว่า เขาสังเกตเห็นแม่ไม่ค่อยมีความสุข แม่ก็ เอ๊ะ แม่ก็มีความสุขดีนี่ ทำงาน หาเงิน เลี้ยงลูก ว่างๆ ก็ทำงานอดิเรกที่ชอบ แปลหนังสือบ้าง วาดรูปบ้าง ทำงานฝีมือบ้าง เขาบอกแค่นั้นมันไม่พอหรอก เขาให้เราบอก “ความฝัน” เหมือนเด็กที่ฝันอยากจะเป็นนู่นเป็นนี่ สมมติว่าอีก ๒๐ ปี แม่อายุ ๗๐ แม่ฝันอะไรสำหรับชีวิตที่เหลืออยู่ เราก็ตอบไปว่า ฝันอยากมีชีวิตเป็นของตัวเอง อยากใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง เขาก็ตอบกลับมาว่า ไปใช้ซะ

สำหรับแม่ส้ม อันนี้คือจิตวิญญาณ คือคำว่า “ไปใช้ชีวิต” เราจะไปทางไหนก็ได้ ทางโลก ทางวัตถุ ทางธรรม ทางอะไรก็ได้ แต่มันมีเจตจำนงค์อยู่ในนั้น แต่ไม่ใช่ว่าคุณใช้ชีวิตทางโลกหรือทางธรรม โดยที่ตัวเองไม่ได้ตระหนักถึงมัน ทำไปเรื่อยๆ อย่างไม่ชัดเจน หรือถ้าพูดอย่างหยาบๆ คือ ทำไปตามหน้าที่ ตามกระแส ตามความอยาก อาจจะอยากเป็นคนดี อยากสะสมแต้มบุญ แต่สิ่งที่ลึกกว่านั้นไม่มี ไม่มีเป้าหมายก็ไม่มีผลตอบแทน สมมติว่า เราทำวารสารเล่มนึง ผลตอบแทนที่เป็นเงินเดือนก็เป็นเปลือก แต่มันมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำ เช่น เราทำแล้วเกิดความปิติ เราเติบโต เราเห็นชัดเจนว่าชีวิตเราที่มันงอกขึ้นมา มันไปทางซ้ายหรือทางขวา แม่ส้มคิดว่านั่นคือส่วนที่เรียกว่าจิตวิญญาณ

เวลาที่แม่ส้มรู้สึกว่าเดินไปตามสิ่งที่เรียกว่าจิตวิญญาณ แม่ส้มมีเส้นทางไปอย่างไร จากที่ฟังเผินๆ มันมาจากบทสนทนาง่ายๆ เท่านั้นเอง
อันนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับความสนิทกับลูก แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่นั้นหรอก คือหลังๆ มาเนี่ย แม่ส้มใช้ชีวิตที่ไม่ได้สนใจในเรื่องรูปแบบข้างนอก แต่ก่อนจะมีช่วงที่ต้องใส่ชุดผ้าฝ้าย ใส่ผ้าถุง ใช้ถุงผ้า กินเจ มีรูปแบบ แต่ตอนนี้สบายๆ สิ่งที่สำคัญสำหรับเราตอนนี้ก็คือ ณ ขณะที่เรารู้สึกว่าเรายังอยู่ เราอยู่ที่นี่ มันอาจจะมีบางแวบที่เราหายไป แต่เรายังรู้ตัวว่า เราหายไปและเรากลับมา ด้านที่สนใจว่าเราแต่งตัวอย่างไร ใช้ชื่ออะไร เล่นอะไร กินอะไร มันไม่สำคัญกับเราเหมือนแต่ก่อน จิตวิญญาณมันไม่ต้องมีชื่อเรียก ไม่มีแบรนด์ ไม่มีสี สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสามารถชื่นชมได้กับทุกแบรนด์ ทุกศาสนา ทุกสาย ทุกวิถีปฏิบัติ ชื่นชมแล้วก็ไม่ตัดสิน

การมีลูกมีความหมายอย่างไรบ้างกับแม่ส้ม
ความหมายทางกายภาพ มันทำให้ไม่ว่างตลอด ๒๐ กว่าปี เพราะเราเลี้ยงเองตลอด และเรามีธรรมชาติที่ต้องทำอะไรตลอดเวลาตั้งแต่เด็ก ต้องช่วยเหลือตัวเอง ต้องทำอะไรด้วยตัวเอง แล้วก็ไม่ชอบใช้คนอื่น ซึ่งดีมากเลย เพราะการไม่ว่างทำให้เราไม่ค่อยยุ่งกับใคร ไม่ค่อยเดือดร้อนกับเรื่องชาวบ้าน และการเลี้ยงลูกก็เหมือนการทำวิทยานิพนธ์ เราค่อยๆ ดูการเติบโต เราได้เรียน ได้ศึกษาตลอด อย่างคนแรกนึกว่าอย่างนี้ถูกแล้ว คนที่สองก็ไม่เหมือนกันอีก ทั้งนิสัยและอารมณ์ เราก็รื้อใหม่ ศึกษาใหม่ พอมาลูกสาวก็แปลกไปอีกแบบ แต่ละช่วงวัยก็ต่างกันอีก ด้วยความที่ชอบเรียนรู้จากของจริง ทำให้สนุกดี

ทางด้านจิตใจก็ได้ฝึกเยอะ ได้ฝึกความอดทน ความเพียร การยับยั้งชั่งใจ เพราะมันต้องตระหนักตลอดเวลาว่าเราเป็นแบบให้กับลูก แต่จะเป็นแบบอย่างไรให้เป็นธรรมชาติของเรา ฉะนั้น ช่วงแรกๆ เราอาจจะพยายามเป็นแม่ที่ดี แต่ตอนนี้ลูกมันก็ว่าเลยนะ เมื่อก่อนแม่บอกไม่ให้ใช้ถุงพลาสติก แต่ดูแม่เดี๋ยวนี้ซิ (หัวเราะ) คือ เราจะเป็นแบบอย่างไรที่ไม่พยายามเกินไป นี่คือสติของความเป็นแม่ เราไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองถึงขนาดเป็นนางฟ้า เพราะมันไม่เป็นธรรมชาติ และถ้าเราพยายามไม่โกรธ ไม่ดุ ไม่ว่า สุดท้ายความโกรธต่างๆ มันก็จะไปออกกับคนอื่น ซึ่งมันก็ไม่ใช่การระบายออกที่ถูกนัก เพราะฉะนั้นถ้าเราโกรธเขา เราก็ต้องปฏิบัติการกับเขา

ปฏิบัติการอย่างไรคะ
ง่ายที่สุด คือ ขอเวลานอก เราปิดประตูและเขียนหน้าห้องว่า “แม่ไม่ยุ่งกับใคร ๑๐ นาที” บางทีเราอารมณ์ไม่ดี อาจจะมีประจำเดือนหรือกำลังอารมณ์เสีย เราบอกให้รู้ว่าตอนนี้แม่อารมณ์เสีย เราก็พยายามจะสื่อสารว่า เราโกรธได้ แต่เราจะจัดการกับความโกรธของเรา อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียน เช่น ลูกโดดเรียน ถามว่าโกรธไหม-โกรธ ถามต่อว่า โกรธเพราะอะไร-กลัว กลัวอะไร-กลัวเขาไม่มีสิทธิ์สอบ แล้วถ้าถามกลับว่า สมัยเราเรียน เราโดดไหม-โดดมากกว่าเขาอีก พอมาทบทวนอย่างนี้ เราพบว่าเราโกรธเพราะความคาดหวัง ที่แท้เรารักตัวเอง เราเป็นห่วงความรู้สึกตัวเอง พอเขาไม่สามารถทำตามความคาดหวังของเราได้ เราก็เจ็บ เราก็ผิดหวัง พอผิดหวังมากๆ เราก็บ่มจนเป็นความโกรธ ความรักแบบนี้เป็นความรักประเภทเอาเข้าตัว ไม่ใช่ความรักที่ให้ออกไป

ดูเหมือนว่า ความรักที่เอาเข้าตัวจะมีความคาดหวังอยู่เบื้องหลัง แล้วความรักที่ให้ออกไปมีอะไรที่คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
แม่ส้มก็เป็นเหมือนแม่คนอื่นที่มีความรักลูกแบบคาดหวังนะ แต่เพราะเราเรียนรู้มาจากประสบการณ์ตัวเองและจากการศึกษาว่า มนุษย์เราไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กล้วนต้องการ "ความนับถืออย่างเท่าเทียม" สิ่งนี้เป็นคุณค่าในการมองโลกมองชีวิตของแม่ส้ม ฉะนั้นนอกจากการเลี้ยงดู หุงหาอาหาร ให้ความสุขกับลูกแล้ว แม่ส้มเชื่อว่าการให้ความนับถือเป็นเรื่องที่ตัวเองให้ความสำคัญลำดับต้นๆ
ความรักของแม่ส้มจะไม่ใช่รักแท้ไม่มีเงื่อนไขใดๆ หลายครั้งตัวเราเองก็ผิดหวัง เสียใจ และกังวลใจกับลูก เพียงแต่ว่าปฏิกริยาที่เราตอบสนองต่อความผิดหวังนั้นไม่ได้แสดงออกด้วยความโกรธ นั่นคงเป็นเพราะเรามีความนับถือต่อลูกในฐานะที่เป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน เราเชื่อว่าลูกมีปัญญาภายในตัวติดตัวมาแต่กำเนิด

ตอนลูกเป็นเด็กเล็กๆ เรามีหน้าที่ดูแลสุขทุกข์ทางร่างกายและอารมณ์ ให้เขากินอิ่ม นอนหลับ และรู้สึกปลอดภัย แต่พอพวกเขาโตเป็นวัยรุ่น หน้าที่ของเราก็เปลี่ยนไปเป็นผู้ให้กำลังใจ เป็นเพื่อนเดินทางที่ไม่ก้าวก่ายกันมากเกินไป แต่ก็ไม่ทิ้งช่วงห่างมากเกินไป แต่แม้ว่ารูปแบบการดูแลจะปรับเปลี่ยนไปตามการเติบโต แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนเลยนับตั้งแต่ลูกเป็นทารกจนโตเป็นหนุ่มเป็นสาว คือความนับถือในศักยภาพการเรียนรู้ของลูก

และจะว่าไป แม่ส้มเองก็คาดหวังความรักแบบเดียวกันนี้จากลูกๆ ซึ่งผลก็คือ พวกเขาเคารพและนับถือตัวตนที่แม่เป็นและสิ่งที่แม่ทำ แม้การตัดสินใจและการเลือกทางเดินของเราในบางเรื่องอาจทำให้พวกเขาเจ็บปวด แต่พวกเขาก็ไม่เคยเรียกร้องหรือสร้างปัญหาใดๆ ให้เราเลย กลับให้ความเข้าใจ รับฟัง ให้กำลังใจ และให้คำแนะนำในเรื่องใหญ่ๆ ที่เราเกือบจะจนปัญญาแก้ปัญหา

การที่เรารักกันบนพื้นฐานของการนับถือซึ่งกันและกันจึงไม่ได้หมายความว่า เราจะพบแต่ความสุขอย่างราบรื่น เรายังต้องเผชิญหน้ากับความทุกข์ ความไม่แน่นอนของอนาคตเหมือนกับแม่ลูกคนอื่นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้แม่ส้มเชื่อมั่นและมีกำลังใจอยู่เสมอก็คือ เรานับถือซึ่งกันและกัน ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แม่ส้มก็มั่นใจว่าจะมีเพื่อนที่ยอมรับและนับว่าทุกสุขทุกทุกข์ที่เกิดขึ้นเป็นการเรียนรู้ร่วมกัน

คิดถึงคำพูดฟ้าใสที่บอกให้แม่ส้มกลับไปใช้ชีวิตของตัวเอง ตอนนี้ได้ใช้อย่างไรบ้าง
ใช้มากขึ้น ได้เปลี่ยนแปลงที่อยู่และห้อง ได้ทำอะไรที่อยากทำ วาดรูปมากขึ้น กลับมาเป็นโสด มีความชัดเจนในชีวิตมากขึ้น แทนที่จะคิดถึงตัวลูกมากกว่าตัวเอง เปลี่ยนมาคิดถึงเราไปพร้อมๆ กัน เมื่อก่อนคิดว่าต้องดูแลลูกมากกว่าดูแลตัวเอง แต่ไม่ได้ดูแลตัวเองให้มีความสุข จนลูกสังเกตเห็นว่าแม่ดูเซ็งๆ กับชีวิต จริงๆแล้วเขาพูดถูก เพราะตอนนั้นชีวิตเราไม่เคลื่อนไหวและไม่มีแรงบันดาลใจ สิ่งที่เขาโยนกลับมาให้เราคือความกล้าที่เขามี ตอนเขาตัดสินใจจะไปทำงานในเรือ เราก็บอกว่าไปเลย ซึ่งเขาก็ไม่รู้ว่าหรอกจะเจออะไรบ้าง มาเฟียเต็มเรือ คาสิโน เหล้า บุหรี่ ฯลฯ พอเราเปิดโอกาสให้เขา เขาก็โยนกลับมา ตรงนี้เหมือนเป็นจุดหักเหที่ทำให้ชีวิตช่วง ๓-๔ ปีมานี้ มันชัดเจน คือชัดเจนต่อวินาที ไม่รู้หรอกพรุ่งนี้จะเกิดอะไรขึ้น ไม่รู้ แต่รู้สึกคล่องตัว

จนถึงตอนนี้ความสุขมาจากความชัดเจน แต่ความชัดเจนนั้นเลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลงเสมอ ในคำสอนของพุทธธิเบตมีคำว่า “บาร์โด” แปลว่า “ระหว่าง” เช่น ระหว่างตื่นกับหลับ ระหว่างจิตสำนึกกับจิตใต้สำนัก ระหว่างชีวิตกับความตาย ระหว่างความตายกับการเกิดใหม่ ระหว่างกลางวันและกลางคืน ระหว่างลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ระหว่างความคิดหนึ่งเกิดและความคิดหนึ่งหายไป ในระหว่างนี้มีตั้งแต่ระยะที่ยาวและระยะเพียงเสี้ยววินาที ชีวิตจึงคือระหว่าง เรามีหน้าที่แค่เพียงสัมผัสการเคลื่อนไปอย่างชัดเจนเท่านั้นเอง

ถ้ามองย้อนกลับไป ตั้งแต่อาม่า แม่ของแม่ส้ม ตัวแม่ส้มเอง และลูกๆ เราเห็นรอยเชื่อมต่อของกันและกันอย่างไรบ้าง
เราเห็นการส่งทอด จริงๆ แล้วบรรพบุรุษของแม่ส้มที่เมืองจีนเป็นคุณครู จนถึงอาม่า ท่านก็เป็นคนแก่ที่อ่านหนังสือตลอดเวลา คืออ่านหนังสือไปนับลูกประคำไป ฉะนั้นเราจะโตมากับสิ่งเหล่านี้ เวลาเราไปสอบ อาม่าก็จะยัดประคำใส่กระเป๋า แล้วบอกว่าถ้าทำอย่างนี้ เดี๋ยวหุกซือ จะช่วยให้คิดออก แต่จริงๆ แล้วมันก็เป็นอุบายให้มีสติ แล้วอาม่าก็เป็นคนสบาย คล่องๆ ทำงานเก่ง เปิดเผย และให้เสรีภาพเยอะ แม่ของแม่ส้มก็เป็นอย่างนั้น แต่อาจจะเข้มงวดและน่ากลัวกว่า ตัวแม่ส้มเองก็คล้ายกัน แม่ส้มก็เห็นสิ่งนี้ในลูกสาวด้วย ผู้หญิงทั้ง ๔ รุ่นในบ้านนี้จะคล้ายกันตรงที่ ไม่ชอบยุ่งวุ่นวายกับใครและรักสันติ แต่ว่าลูกก็ยังเด็กอยู่ เขาก็ไปเต้น ไปทำอะไรตามวัยเขา แม่ส้มจะไม่ได้ดึงเขาเข้ามาอยู่ในโลกของแม่ ชอบปล่อยให้เขาไปอย่างที่เขาสนใจมากกว่า และถ้าเขาจะสนใจเรื่องที่เราเรียนรู้อยู่ เขาก็จะซึมซับจากสิ่งที่เราเป็นไปด้วยตัวเอง

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...