บทความที่ 39: อาชีพแห่งความเป็นมนุษย์ Human Profession, A Life-Friendly Version

โดย ณัฐฬส วังวิญญู
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๐

----------------

เวลายายของผมกลับไปทำบุญและเยี่ยมเยียนหมู่บ้านทุกวันพระ บางครั้งจะมีคนในหมู่บ้านถามว่า ผมทำงานอะไร ยายมักตอบไปว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกัน เห็นเดินทางไปๆ มาๆ” และยายก็มักจะหัวเราะตามเสมอเวลาที่ตัวเองไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าอาชีพของหลานตัวเองนั้นคืออะไร แม้ว่าจะล่วงเลยมาหลายปีแล้วนับตั้งแต่วันที่ผมตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านในเมืองเล็กๆ อย่างเชียงราย ยายเองดูจะมีความสุขและภูมิใจที่เห็นผมมีเวลาอยู่กับบ้าน ได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา อย่างน้อยก็มื้อเย็น หรือไม่ก็มื้อกลางวันด้วย และผมมักมีเวลาพูดคุยกับยายเสมอ บางครั้งเราเพียงแต่มองหน้าสบตากัน รับรู้กันและกันว่ายังดำรงอยู่ด้วยดี ก็มีค่าเพียงพอแล้ว ยายคงคิดว่าอาชีพการงานที่ไม่เป็นหลักแหล่ง หรือการไม่มีงานประจำของผม เป็นเรื่องไม่น่าเป็นห่วงสักเท่าไร

ในประเทศออสเตรเลียปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหนึ่งคือ คนต้องการมีเวลาให้กับ “การมีชีวิต” มากขึ้นแล้วลดเวลาของการทำงานลงเหลือเพียง ๑ ใน ๓ ของงานเต็มเวลา เช่น เดือนหนึ่งก็อาจทำงานเพียง ๑๐ วัน หรือทำงานสัปดาห์ละ ๓ วันให้เพียงพอแก่การหล่อเลี้ยงชีพ ส่วนเวลาที่เหลือก็ทำงานเพื่อวาระแห่งชีวิต เรียนรู้ ดูแล สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ

ผมรู้สึกว่าคำถามว่า “คุณทำงานอะไร” เป็นคำถามทั่วไปที่เป็นที่นิยมไม่น้อย พอๆ กับคำถามว่า “เป็นคนที่ไหน” หรือ “เรียนจบที่ไหน” หรือ “เรียนจบอะไร” หรือ “แล้วจะทำอะไรต่อ” ราวกับว่าสถาบันเหล่านั้น หรืออาชีพนั้นสำคัญต่อการดำรงอยู่และการเลี้ยงชีพมาก โดยเฉพาะในแง่การเติมเต็มความจำเป็น และความต้องการทางวัตถุ การได้เงินเดือนเท่าไร หรือได้รับการเพิ่มขั้น ขึ้นเงินเดือนหรือเพิ่มโบนัส กลายเป็นสิ่งที่ตั้งตารอคอย

ชีวิตของคนทำงานหาเช้ากินค่ำ มีงานประจำ มีเงินเดือนสำหรับการจับจ่ายใช้สอย เป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือวาระขององค์กร ของสถาบัน หรือของบริษัทนั้นๆ จนบางทีก็ไม่แน่ใจนักว่าพลังชีวิตของเราถูกใช้ไปเพื่อรับใช้วาระขององค์กรหรือวาระของตัวเองอย่างสมดุลหรือเปล่า อีกทั้งชวนให้ตั้งคำถามว่า วิถีที่เป็นอยู่นี้สามารถรับประกันว่า สุดสายปลายทางของชีวิตที่กำลังวิ่งบนสายพานแห่งการทำงานอย่างไม่หยุดยั้งนี้เราจะพบเจอกับชีวิตที่งดงาม มั่งคั่งด้วยความสุขและความพึงพอใจได้มากน้อยเพียงใด

หากเรามองอย่างเอาชีวิตเป็นตัวตั้งดูบ้าง เราอาจค้นพบว่า ชีวิตก็มีความเป็น “องค์กร” มีความเป็น “สถาบัน” ที่มีเป้าหมายแห่งการดำรงอยู่เช่นกัน มีวาระแห่งชีวิตที่พึงได้รับการหล่อเลี้ยงเติมเต็ม
การสละเรื่องส่วนตัว เวลาส่วนตัว เวลาครอบครัว พลังชีวิตเพื่ออุทิศให้กับการบรรลุเป้าหมายหรือวาระขององค์กรนั้นดูเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสรรเสริญ แล้ว “วาระของชีวิต” ของเราเองล่ะครับ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกายใจของตัวเองและคนที่เรารัก หรือคนใกล้ชิดที่สุดที่บางครั้งเราคิดไปเองว่าเป็น “ของตาย” ล่ะ เราได้ดูแลอย่างที่เราอยากดูแลหรือเปล่า ทั้งๆ ที่บางทีเราบอกตัวเองว่าที่ทำไปก็เพื่อครอบครัว เพื่อลูก หรือเพื่อคนใกล้ชิด แต่เราได้สละตัวเองเพื่อตัวเองบ้างไหม

เพื่อให้ชีวิตดำเนินต่อไป เราอาจต้องเดินทางมากมาย เราทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่เมื่อเราได้มีโอกาสได้หยุดใคร่ครวญบ้าง เราก็อาจพบว่าการเดินทางที่เรายังไม่ค่อยได้ไปนัก คือการเดินทางด้านใน เพื่อเข้าไปสืบค้นและทำความเข้าใจกับตัวเองอย่างแท้จริงว่า ความปรารถนาที่อยู่ลึกที่สุดในหัวใจของเราคืออะไร ภารกิจอันแท้จริงของความเป็นมนุษย์ นอกไปจากภารกิจที่พึงปฏิบัติในฐานะสมาชิกของสังคม องค์กร หรือครอบครัว คืออะไร ภารกิจที่เราจะต้องกระทำให้กับชีวิตเราเองคืออะไร

เราได้ค้นพบหรือไม่ว่าลึกที่สุดในชีวิตเราคืออิสรภาพและความรัก ที่จะ “เลือก” ใช้ชีวิตของเราตามครรลองของหัวใจและด้วยความไว้วางใจอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้นั่นอาจหมายถึงการดำเนินชีวิตที่แตกต่างออกไปจากวิถีทั่วไป ที่ผมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิถีของความเป็นปกติ เพราะผมไม่คิดว่าการทำงานหนักวันละ ๘ ชั่วโมง ๕ วันต่อสัปดาห์ อย่างไม่มีเวลาได้ “ว่าง” เพื่อการใคร่ครวญ เป็นเรื่อง “ปกติ” เพียงแต่ได้รับการปฏิบัติต่อๆ กันมาในสังคมโลกตั้งแต่ยุตปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา จนเรียกว่า “ปกติ” ผมกลับคิดว่าเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” เสียมากกว่า ทั้งนี้ จำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันหรือต่อสัปดาห์นั้นคงไม่ใช่ตัวชี้วัดถึงความปกติหรือไม่ปกติ และคำว่า “ความว่าง” ของผมก็ไม่ได้หมายความว่า “การไม่ทำอะไร” แต่หมายถึง สภาวะการดำรงอยู่ภายในของเรามากกว่าว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เราทำอยู่ และสอดรับกับเป้าหมายหรือภารกิจอันแท้จริงของชีวิตเราหรือไม่

ช่วงนี้ เพื่อนผมบางคนที่พ่อหรือแม่เริ่มชราภาพและเจ็บป่วยตามกาลเวลานั้นได้เลือกที่จะละจากการทำงานประจำมาเพื่อดูแลผู้อันเป็นที่รัก หลายคนบ่นให้ฟังว่า ไม่ง่ายเลยที่จะต้องอยู่บ้าน (แทนการไปทำงาน) การต้องเผชิญกับอารมณ์ลบ ความหงุดหงิด คับข้องหมองใจ ของทั้งตัวเองและผู้ที่เขาให้การดูแลอยู่ จนถือได้ว่าเป็นภารกิจที่หนักหนาสาหัสเอาการได้เหมือนกัน

ผมรู้สึกชื่นชมสิ่งที่เพื่อนๆ ได้เลือกกลับมาดูแลหล่อเลี้ยงพ่อแม่ของตัวเอง แม้นว่าโดยทั่วไป สังคมอาจไม่ถือว่านี่เป็นอาชีพอย่างหนึ่ง เพราะมันไม่ได้สร้างรายได้อะไร ไม่ได้ไปเพิ่ม “ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ” หรือ GNP ไม่ได้มีความหมายต่อ “การเติบโตทางเศรษฐกิจ” แต่ผมถือว่าเป็น “อาชีพแห่งความเป็นมนุษย์” ที่คอยดูแล “วาระแห่งชีวิต” ที่เป็นปัจจุบันและมีความสำคัญต่อการสืบทอดมรดกแห่งความเป็นมนุษย์นั้น เป็นสิ่งที่ซื้อหาไม่ได้ แต่สร้างเองได้ และมีค่าแก่การเติบใหญ่ทางจิตวิญญาณของเราเอง ซึ่งจะส่งผลให้ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) เพิ่มขึ้น ดังที่ประเทศภูฏานได้สร้างพื้นฐานตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ไว้
วาระแห่งชีวิตเหล่านี้น่าจะได้รับการยกระดับให้เป็นวาระแห่ง “ชาติ” ที่อาจหมายถึง วาระที่มีมาพร้อมกับการเกิดเป็นมนุษย์ และคงเป็นสิ่งที่น่ายินดีไม่น้อยหากผู้คนในสังคมสมัยใหม่จะ “เลือก” ใส่ใจคนรอบข้างอย่างอ่อนโยนยิ่งขึ้น ดูแลผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งทางเลือดเนื้อกายาและจิตใจของเขาอย่างเคารพ

เป็นที่น่าภูมิใจว่า จิตสำนึกและการปฏิบัตินี้ยังมีอยู่ในวัฒนธรรมพื้นบ้านของทุกหมู่เหล่า คือวัฒนธรรมแห่งการดูแล พ่อแม่เมื่อแก่เฒ่าก็มีลูกเต้ามาดูแล แต่การรุกเร้าของวัฒนธรรมอุตสาหกรรมสายพานชีวิตนั้นทำให้หลายคนอาจรู้สึกว่า การต้อง“หยุด” มาดูแลวาระชีวิตของตนเป็นสิ่งที่ฝืนกับข้อเรียกร้องของ “งาน” และเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้วเราต่างยอมรับว่าเป็นเรื่องสำคัญและมีค่ายิ่ง ผมเชื่อว่า อารยธรรมและอิสรภาพของมนุษย์นั้นจะได้รับโอกาสในการพัฒนาเมื่อเรา “หยุด” เป็น “ช้าลง” เป็น “เฝ้ามองสิ่งต่างๆ อย่างเนิ่นนาน” เป็น เห็นมรดกชีวิตอันล้ำค่าที่ดำรงอยู่รอบๆ ตัวเราและในตัวเรา

ร้อยปีมานี้ เรามุ่งเน้นแต่การ “พัฒนาไปข้างหน้า” ที่เป็นการทำให้เกิดสิ่งต่างๆ มากขึ้น สะสมมากขึ้น กอบโกยและเป็นเจ้าของมากขึ้น โดยไม่ค่อยใส่ใจหรือชื่นชมต่อสิ่งที่มีอยู่แล้ว ที่อยู่กับเราในปัจจุบัน เราอาจยังขาด “การพัฒนาไปข้างๆ หรือไปรอบๆ” คือการดูแลผู้คนที่อยู่รอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมงาน หรือคนในชุมชน หรือ “พัฒนาไปข้างหลัง” คือการดูแลผู้ที่มีส่วนหล่อเลี้ยงผลักดันให้ชีวิตเราได้เติบใหญ่ เช่นครอบครัว พ่อแม่ ตายาย เป็นต้น หรือ “พัฒนาไปข้างบน” คือการเสริมเติมมิติแห่งความศักดิ์สิทธิ์และจิตวิญญาณให้กับชีวิตตัวเอง อาจเรียกได้ว่าเป็น “การพัฒนาไปข้างใน” ส่วนการ “พัฒนาลงด้านล่าง” คือการดูแลธรรมชาติ แผ่นดินและชีวิตน้อยใหญ่ที่มีส่วนทำให้เราดำรงอยู่รอดมาได้และเป็นหัวใจแห่งการดำรงอยู่รอดของอนาคตของมนุษยชาติ ทั้งหมดก็น่าจะเป็นการพัฒนาที่รอบด้านและสมดุล

บางทีการพูดถึง “เศรษฐกิจพอเพียง” นั้นจะเพิ่มมิติของการทำอะไรอย่างไม่ได้ผลตอบแทนทางวัตถุได้หรือไม่ เพราะคำว่า “พอเพียง” ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่หัวใจเท่านั้นที่จะรับรู้และทำได้ เพราะในเนื้อในตัวของวัตถุสิ่งของหรือเงินตราเองไม่สามารถทำให้พอเพียงได้ หากเศรษฐกิจพอเพียงอาจรวมถึง เศรษฐกิจที่สามารถเสริมสร้างความตื่นรู้ในปัจจุบันขณะ เพื่อมองเห็นความรุ่มรวยของการเดินทางเข้าสู่ภายในอย่างมองเห็นความเชื่อมโยงของชีวิต เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไม่เพียงเน้นการเติบโตด้านนอก แต่เป็นการเติบโตแห่งจิตวิญญาณด้านใน และเกื้อกูลให้อาชีพของความเป็นมนุษย์นั้นได้รับการชื่นชมสรรเสริญ เพราะไม่ว่าเราจะมีอาชีพอะไรก็ตาม เราก็คงไม่อาจปฏิเสธ “วาระแห่งชีวิต” ที่ดำรงอยู่ในเนื้อในตัวของเราเองได้ หากเพียงได้หยุดพักอย่างผ่อนคลาย และไตร่ตรองด้วยหัวใจ เราก็จะอาจพบเสียงเรียกร้องที่เป็นธรรมภายใน ที่เชื้อเชิญให้เราประกอบอาชีพแห่งความมนุษย์อย่างสมภาคภูมิ

แหล่งที่มา : http://jittapanya.blogspot.com/2007/04/human-profession-life-friendly-version.html

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...