โดย ณัฐฬส วังวิญญู
ตีพิมพ์ครั้งแรกในชื่อ "สังคมแห่งนำ้ใจ" หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 12 พฤศจิกายน 2554
ผมติดตามข่าวคราวน้ำท่วมนับตั้งแต่กรุงเก่าถึงกรุงเทพฯ อย่างรู้สึกหนักอกหนักใจ ยิ่งได้ยินเรื่องราวของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ที่ต่างฝ่ายต่างพยายามกีดกันน้ำออกจากพื้นที่ของตัวเองจนเดือดร้อนชุมชนอื่นๆ ก็ยิ่งรู้สึกเศร้าใจ เพราะแทนที่เราจะช่วยกัน เรากลับกีดกัดแบ่งแยกกันยิ่งขึ้น แต่ก็ดีใจที่ได้เห็นว่าชุมชนหรือสังคมในหลายพื้นที่ “เลือก” ที่จะร่วมไม้ร่วมมือกันในการฝ่าวิกฤตครั้งนี้
การที่ต้องเผชิญกับวิกฤตที่คิดไม่ถึงหรือจินตนาการไม่ออกว่ามันจะเกิดขึ้นกับเราได้ ทำให้หลาย ครอบครัวและองค์กรเกิดความระส่ำระสายว่าจะจัดการป้องกันหรือหนีจากน้ำท่วมอย่างไร
เกิดความคิดเห็นที่แตกต่าง เกิดทั้งความร่วมมือและความขัดแย้ง เพราะความเครียด ความวิตกกังวล และความไม่รู้ ทำให้การสร้างความร่วมมือนั้นท้าทายไม่น้อยสำหรับวิกฤตการณ์ที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสร่วมจัดงาน World Youth Leadership Jam ให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ ทำงานทางสังคมจากสิบกว่าประเทศได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน เป็นประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง และเหนือความคาดหมายสำหรับผม ในขณะที่คิดว่าน่าจะทำอะไรได้บ้างสำหรับสังคมไทย ผมก็ได้มีโอกาสพูดคุยและเปลี่ยนกับเพื่อนคนหนึ่งที่มาจากประเทศญี่ปุ่น เธอชื่อ ยูกะ ไซออนจิ ทำงานให้กับมูลนิธิสันติภาพโกอิ (www.goipeace.or.jp) เธอได้บอกเล่าเรื่องราวของการฟื้นฟูประเทศญี่ปุ่นจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว และกัมมันตภาพรังสี ราวกับฟ้าบันดาลให้ผมได้เรียนรู้สิ่งที่จะมีค่ายิ่ง
เธอบอกว่า ช่างน่าเศร้าที่ผู้คนเริ่มมองว่าโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เลวร้าย ต้องหาทางหลีกหนีและปฏิเสธ แต่กลับลืมว่าวิถีชีวิตอันทันสมัยและสะดวกสบายของพวกเขาที่เป็นมาจวบจนทุกวันนี้ ล้วนพึ่งพานิวเคลียร์อยู่ แต่พอเกิดภัยพิบัติกลับพลิกมุมมองไปในทางรังเกียจเดียดฉันท์และเกรงกลัว แม้ว่าตัวเธอเองไม่ได้สนับสนุนการใช้นิวเคลียร์ แต่ก็มองว่าเรามีแนวโน้มที่จะตำหนิให้ร้ายอะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเราเกิดความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือแม้แต่เพียงไม่สะดวกสบายตัว แม้ว่าสิ่งนั้นๆ อาจเคยมีบุญคุณกับชีวิตของเรา เรามักไม่ค่อยตั้งคำถามว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของการเลือกชีวิตที่นำไปสู่ความทุกข์ที่จะตามมาอย่างไรบ้าง
ผมเองไม่ได้สนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์มาแต่ไหนแต่ไร เพราะเชื่อว่าสังคมควรจะมีทางเลือกในวิถีชีวิตที่แตกต่าง มากกว่าการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีความเสี่ยงแม้ในระดับไม่สูงมากก็ตาม แต่พอมาได้ยินมุมมองของยูกะทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่าเราจะปรับเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ได้ ไม่ใช่จากมุมมองของการรังเกียจ แต่มาจากความรัก การยอมรับและความเข้าใจ เธอไม่เพียงชักชวนให้เราแผ่เมตตาไปยังผู้ที่ประสบภัยพิบัติสึนามิและแผ่นดินไหวเท่านั้น เธอยังชวนให้เราเห็นใจโรงปฏิกรณ์ปรมาณูที่ได้ ทำหน้าที่เกื้อกูลสังคมญี่ปุ่นให้ก้าวหน้าพัฒนามาตลอดด้วย
ยูกะเล่าว่าหลังจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิที่สร้างความสูญเสียให้กับประเทศญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีโครงการฟื้นฟูประเทศมากมายที่มุ่งไปสู่การสร้างจิตสำนึกใหม่ในการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ทั้งกับชุมชนต่างๆ และกับธรรมชาติ ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่ข้ามพ้นความกลัว และการแบ่งแยก โครงการเหล่านี้ทำให้เธอเห็นพลังและความหวังของผู้คนที่เกิดขึ้น เมื่อได้หันหน้าเข้าหากันและแสวงหาปัญญาร่วมกัน
ยูกะได้ร่วมกับโครงการญี่ปุ่นทนทานต้านภัยพิบัติ (www.resilientjapan.org) จัดกิจกรรมฟื้นฟูพลัง ชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงอายุ ๒๐-๔๐ ปี จากกลุ่มผู้ประสบภัยที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่แผ่นดินไหวและสึนามิ กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานในพื้นที่ภัยพิบัติ และกลุ่มที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งหมดจำนวน ๖๐ คน มาใช้ชีวิตร่วมกันเป็นเวลา ๓ วันในสถานที่ที่ห่างจากความกังวลและความวุ่นวายของเมืองใหญ่ เพื่อจะได้รู้สึกปลอดภัยและหยุดพักจากความเร่งรีบโกลาหล อันเป็นโอกาสของการทบทวนตัวเอง และแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้สึกและเรื่องราวที่สำคัญต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องร้ายและเรื่องดีที่ได้เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตครั้งนั้น เธอได้จัดกิจกรรมในรูปแบบนี้มาแล้ว ๓ ครั้งและจะจัดอีก ๒ ครั้งภายในสิ้นปีนี้ เพื่อให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่จำนวนทั้งหมด ๓๐๐ คนได้มีโอกาสรับและให้บทเรียนสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิต รวมถึงได้เชื่อมโยงความเข้าใจประเทศในภาพรวม และสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็ง
นอกจากมิตรภาพอันงดงามที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ แล้ว บทเรียนที่สำคัญจากกิจกรรมนี้ทำให้พวกเขาค้นพบว่า ผู้คนมักจะสาละวนอยู่กับการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ และสิ่งที่ “ต้องทำ” ตลอดเวลา จนไม่มีโอกาสได้ทบทวนเพื่อทำความเข้าใจตัวเอง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในตัวเอง ไม่มีโอกาสได้ถอยหลังออกมาเพื่อมองภาพรวม และแสวงหาความร่วมมืออย่างเชื่อมโยงไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ออกไป ยูกะบอกว่าเธอได้ประจักษ์ถึงการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกของผู้คนที่มาเข้าโครงการนี้อย่างชัดเจน และเห็นความหวังบนใบหน้าแววตาของผู้คนอีกครั้งในการที่จะเริ่มชีวิตใหม่ที่ไปพ้นความกลัวและความเร่งรีบบีบคั้น พวกเขาได้เรียนรู้ว่า มันง่ายเหลือเกินที่จะพลัดตกลงไปในแบบแผนความคิดและพฤติกรรมแบบเก่าๆ
พื้นที่ของการหันหน้าเข้าหากันเช่นนี้นับว่ามีค่ามาก เพราะได้ช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึกภายในให้กับผู้คน เกิดการเยียวยาและฟื้นพลังชีวิต และสร้างโครงการร่วมกันดีๆ ให้เกิดขึ้นมากมายในหมู่ชนคนรุ่นใหม่ที่มีไฟในการสร้างสรรค์สังคมของตัวเอง เช่น โครงการค่ายเด็ก และเยาวชนที่ประสบภัยในเมืองฟูกูชิมา โดยจัดให้เด็กๆ ได้มาเล่นและผ่อนคลายนอกพื้นที่เสี่ยงภัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างพลังชีวิตผ่านดนตรีให้กับคนรุ่นใหม่ เร็วๆ นี้ก็จะมีกิจกรรมทบทวน แลกเปลี่ยนสำหรับเยาวชนในเมืองมิยากิที่ถูกกระหน่ำด้วยสึนามิ รวมทั้งจัดอบรมให้กับคนที่สนใจที่จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้จัดกิจกรรมเพื่อการฟื้นฟูและสร้างสรรค์เหล่านี้ต่อไป
ยูกะกล่าวว่าแม้ว่าสิ่งที่ได้จัดไปจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในใจผู้คนนั้นใหญ่หลวง ซึ่งจะเป็นขุมพลังชีวิตและสติปัญญาในการสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงในระดับกว้างออกไปในครอบครัวและชุมชนของตัวเอง
เมื่อย้อนกลับมามองดูประเทศไทยที่เต็มไปด้วยความเสียหายอย่างไม่สามารถจัดการควบคุม ธรรมชาติได้ ผมเริ่มเห็นโอกาสในการตั้งคำถามและเรียนรู้จากกันและกัน เพื่อทบทวนชีวิต และทิศทางสู่อนาคตว่า สังคมไทยต้องการจะหันเหไปในทิศทางใด เราอยากจะพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมไปเรื่อยๆ แล้วเพิ่มระบบจัดการและเทคโนโลยีควบคุมน้ำให้เข้มแข็งขึ้น หรืออยากจะอยู่ร่วมกันอย่างพอเพียงยิ่งขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงย้อนรอยคืนสู่วิถีดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่เป็นมิตรกับทั้งน้ำและเพื่อนบ้าน สร้างเครือข่ายความร่วมมือในสังคมที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไปพ้นสีผิว สีเสื้อ หรือสีพรรค หรือเราจะกลายเป็นสังคมที่ไม่ต้องการปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ คอยแต่จะควบคุมจัดการสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรานักต่อไป
No comments:
Post a Comment