เปิดหัวใจสู่การได้ยิน


10 ปีที่แล้ว หนุ่มไทยคนหนึ่งเรียนจบด้านผู้นำสิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยนาโรปะ โคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่ส่งเสริมเรื่องการรู้จักตัวเองและเข้าใจชีวิตบนพื้นฐานพุทธธรรม เมื่อกลับประเทศไทย เขามีแรงบันดาลใจที่จะแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตนร่ำเรียนมาสู่แผ่นดินเกิด ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ชวนคนมาล้อมวงแลกเปลี่ยนกันเรื่องการศึกษา สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงเรื่องสังคม แต่วงพูดคุยกลับเต็มไปด้วยการถกเถียงและไม่เกิดการเรียนรู้ใดๆ ขึ้น

“ทำไมล่ะ ทั้งๆ ที่หลายคนก็เป็นคนดี มีความรู้ และปฏิบัติธรรม?” เขาตั้งคำถาม หลังจากสืบค้นครั้งแล้วครั้งเล่า เขาพบว่าเหตุอาจเป็นเพราะ “เราไม่ได้ยินกันและกัน และเราไม่ได้ยินตัวเอง”

เด็กหนุ่มในวันนั้น คือ ณัฐฬส วงวิญญู หนึ่งในกระบวนกรผู้ริเริ่มศาสตร์ “สุนทรียสนทนา” ขึ้นในประเทศไทย

“ผมพบว่าหลายครั้งในวงพูดคุย คนที่พูดมักเป็นผู้รู้หรือคนที่พูดเก่ง ส่วนคนไม่พูดก็เงียบๆ ฟังแบบแกนๆ ในองค์กรก็เช่นเดียวกัน ผู้คนเบื่อการประชุม เหนื่อยกับการแสดงความเห็น ที่ต้องทำก็เพราะงานต้องมีข้อสรุป
ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นเพียงความเห็นที่ไม่เคยได้ยินกันและกัน ถึงเราอยากช่วยอีกฝ่าย แต่เราก็ช่วยไม่ได้มากเท่าไหร่ บรรยากาศในวงแบบนี้จึงเหนื่อยหน่าย น่าอึดอัด และต้องปกป้องตัวเอง

“ผมจึงเริ่มคิดว่าในสังคมเรา ที่จริงแล้วมีความรู้และผู้รู้มากมาย แต่ไม่มีใครได้ยินกัน จึงไม่เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน ผมเลยกลับมาสนใจทำงานเรื่อง “สุนทรียสนทนา” ซึ่งใส่ใจกระบวนการได้ยิน การฟัง การสร้างพื้นที่แห่งความไว้วางใจ การสื่อสารสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เราได้ยินกันมากขึ้นแล้ว เรายังเริ่มเข้าใจตนเอง เข้าใจวิธีการปฏิสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างมากขึ้นและลึกซึ้งขึ้นอีกด้วย”

เปิดพื้นที่ในหัวใจ

โอม รัตนกาญจน์ อดีตวิศวกรหนุ่มวัย 30 ปีผู้ผันตัวเองมาเป็นกระบวนกรแบบสุนทรียสนทนา บอกให้เราฟังว่า สุนทรียสนทนาทำให้การพูดคุยของเขากับคนอื่นลึกซึ้งขึ้น เขาได้ฝึกฟังอย่างลึกซึ้งทั้งสิ่งที่อีกฝ่ายพูดและไม่ได้พูด เพื่อให้ได้ยินว่าอีกฝ่ายรู้สึก ต้องการ หรือให้คุณค่ากับสิ่งใด นอกจากนี้ สุนทรียสนทนายังช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้กล้าพูดความในใจ และกล้าเป็นตัวของตัวเอง เปรียบเสมือนโรงฝึกนักกีฬาที่ไม่มีการตัดสินแพ้ชนะ มีแต่เพียงการเรียนรู้

“เมื่อก่อนผมทำงานหนักและใช้ชีวิตรีบเร่งมาก ออกจากบ้านเช้ากลับถึงบ้านค่ำ ทุกวันแม่จะนั่งรอที่โต๊ะกินข้าว ถามว่าเรากินอะไรหรือยัง เหนื่อยไหม ผมก็จะรีบตัดบทแล้วก็แยกขึ้นห้องไป หรือหลายครั้งแม่ถามว่า ทำไมกลับดึกจัง ผมก็ตีความว่าเขากำลังบ่นและมาวุ่นวายกับชีวิตเรา ผมเลยตอบกลับไปทันทีว่า ผมโตแล้ว ดูแลตัวเองได้

“การได้มาฝึกแบบนี้ ผมจะเริ่มได้ยินว่าลึกๆ แล้ว แม่รู้สึกเป็นห่วงเรานะ สิ่งที่แม่ให้คุณค่าคือความปลอดภัยของเรา พอผมรับรู้อย่างนี้ได้ ท่าทีของผมต่อแม่ก็เปลี่ยนไป แล้วผมก็เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมช่วยให้คนอื่นเขาคุยกันได้ตั้งเยอะ แล้วทำไมตัวผมเองจะคุยกับแม่แบบนี้บ้างไม่ได้ล่ะ

“วันหนึ่งกลับบ้านเราเลยบอกแม่ว่า ผมมีอะไรจะคุยด้วย แม่ก็ตกใจ นึกว่ามีเรื่องอะไรเกิดขึ้น แต่พอเรานั่งลงและถามแม่ว่า ผมแค่อยากรู้ว่าชีวิตแม่ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง แม่ก็นิ่งไป แล้วน้ำตาก็ไหลด้วยความตื้นตัน สิ่งนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าตลอดมา เราไม่เคยมีพื้นที่ของการฟังที่รับรู้สุขทุกข์ของกันและกันอย่างไม่ตัดสินถูกผิด ช่วงเวลาแบบนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก มันทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตและการอยู่ร่วมของเรานั้นมีความอบอุ่นและมีความหมาย”

เปิดพื้นที่ในบ้าน

เช่นเดียวกับณัฐฬส เขาได้ลองเอา “สุนทรียสนทนา” ไปใช้ในบ้านด้วยเช่นกัน บ้านของเขาไม่ต่างกับครอบครัวอื่นๆ ที่หลังจากกินข้าวเสร็จ ทุกคนจะต่างแยกย้ายไปในมุมของตัวเอง ดูทีวี ใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์ แต่ละคนต่างมีเวลาให้กันและกันน้อยเหลือเกิน
“ผมสังเกตเห็นว่าจริงๆ แล้วทุกคนเหนื่อย และเราอยากจะรับรู้ความเป็นไปของคนในบ้าน วันหนึ่งเลยชวนพ่อแม่คุยหลังกินข้าวว่าชีวิตของแต่ละคนเป็นอย่างไร แรกๆ เขาก็งงๆ นะ แต่สักพักก็พบว่าทุกคนอยากจะสัมพันธ์กันอยู่แล้ว บางครั้งพ่อก็เล่าเรื่องตอนเป็นเด็ก ความเหนื่อยยากที่เขาเคยเจอ เล่าไปบางช่วงก็มีน้ำตาคลอๆ ด้วย ส่วนแม่ที่เคยเป็นแต่คนฟัง เราก็กระตุ้นให้แกเล่ามากขึ้น ทำให้เราเห็นว่าโลกของแม่เป็นอย่างไร

“พอเราได้ทำแบบนี้ เราจะได้เห็นใจกัน ได้เห็นรายละเอียดของชีวิตของอีกฝ่าย ทำให้ความรักที่มีอยู่แล้ว มีความเข้าใจกันมากขึ้น ทุกวันนี้ในงานวันเกิด หลังจากเป่าเค้ก ผมก็จะชวนคนในบ้านคุย เรารู้สึกอย่างไรกับเจ้าของวันเกิด เราเห็นอะไรดีๆ ในตัวเขาบ้าง แค่นี้ก็ช่วยรดน้ำให้กันและกันมากแล้ว สุนทรียสนทนานั้นดูเป็นเรื่องที่เรียบง่าย แต่ดีมาก เวลาที่เราใช้กับคนที่เรารัก เพราะมันช่วยให้เราจะเห็นคุณค่าของกันและกันมากขึ้น”

“สำหรับผม ถ้าเราให้คุณค่าคนใกล้ตัวได้ มันก็เพียงพอแล้ว เพราะสิ่งนี้คือฐานสำคัญที่จะส่งให้เราทำอย่างอื่นต่อ เราอาจจะคิดฝันในเรื่องใหญ่ๆ ยากๆ และลงมือทำมัน แต่ถ้าเรากับคนที่บ้านเข้าใจกันและกันได้ มันก็จะเป็นฐานแห่งความมั่นใจและความสุขที่คอยสนับสนุนเราอยู่เบื้องหลัง” ณัฐฬสกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...