[จดหมายข่าวผีเสื้อ : เมษา53] การงานที่สอดคล้องกับชีวิตเรา



ถ้าเราคอยแต่เงี่ยฟังแต่“สิ่งที่ควรทำ”ในชีวิตเป็นหลัก เราก็อาจตกอยู่ ในวงล้อมของเสียงของความคาดหวังจากภายนอกที่สามารถทำให้ความเป็นตัวเราและความสอดคล้องภายในบิดเบือนไป หากจะใช้การคิดคำนวณทางคุณธรรมแล้ว มันมีสิ่งที่เรา"ควร"จะทำมากมาย แต่นั่นคืออาชีพของเราหรือเปล่า แล้วเรามีพรสวรรค์หรือมีเสียงเรียกให้ทำมันหรือเปล่า? สิ่งที่ควรทำนั้น เป็นจุดบรรจบพอดีกันของความเป็นเรากับโลกภายนอกหรือไม่ หรือเป็นเพียงภาพลักษณ์ของคนอื่นที่เราคิดว่า "ควร"จะเอาเป็นแบบอย่างให้กับชีวิต?

เมื่อผมยอมทำตามสิ่งที่ “ควร” จะทำเท่านั้น ผมก็อาจจะพบว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องที่ดี น่ายกย่องสรรเสริญ แต่กลับไม่ใช่เรื่องของผม การทำงานที่ไม่ใช่ของเรานั้นไม่ว่ามันจะได้รับคุณค่าจากโลกภายนอกเพียงใดก็ตามนั้น จะทำร้ายสิ่งที่เราเป็น นั่นคือเป็นการทำร้ายความเป็นเราและความสอดคล้องภายในตัวเองอย่างเห็นได้ชัด ด้วยอ้างหลักการที่ยกมาจากภายนอก และเมื่อเราเบียดเบียนตัวเอง เราก็หลีกหนีการเบียดเบียนคนรอบข้างที่เราทำงานด้วยไม่พ้น มีครูจำนวนเท่าไรที่เอาความทุกข์ของตัวเองไปก่อความทุกข์และความเจ็บปวดให้กับนักเรียนที่ตนสอน โดยความทุกข์นี้เกิดจากการที่ต้องทำในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเขา หรือไม่ก็เป็นการงานที่ไม่ตรงกับตัวตนของพวกเขาอีกต่อไป?

แนวคิดหนึ่งที่ตรงข้ามกับแนวคิด ที่ว่าการทำงานเป็นเรื่องที่จำต้องฝืนหรือบางทีเบียดเบียนตนนั้นคือภาพของการงานที่เปิดกว้างและมีความเป็นมนุษย์ ดังที่เฟร็ดเดอริค บูชเนอร์ได้เสนอไว้ว่า คือ การงานคือพื้นที่ที่ “ความสุขอันลำลึกของคุณและความต้องการที่โหยหิวของโลกได้มาบรรจบกัน”

แต่ในวัฒนธรรมที่เทียบการทำงานให้เท่ากับการทนลำบากนั้น แนวคิดที่สวนทางอย่างสิ้นเชิง คือการเสนอว่า สัญญาณจากภายในที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละวิชาชีพคือความสุขที่ลึกซึ้ง ซึ่งดูออกจะพลิกมุมมองจากเดิมแต่มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะถ้ามันเป็นการงานของผมแล้วละก็ ผมก็จะยินดีที่จะรับมาแบกหามในระยะยาว แม้ว่าจะต้องเจอวันยากๆบ้างก็ตาม และแม้แต่ในวันที่ต้องประสบกับเรื่องยากๆ ก็จะทำให้ผมสุขใจได้เพราะมันจะช่วยให้ผมเติบโต ในการงานที่เป็นของผมอย่างแท้จริง

ถ้าการงานไม่ทำให้ผมเป็นสุข ผมอาจจะต้องพิจารณาแล้ววางมันลง ถ้าผมอุทิศตัวเองให้กับบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ได้มาจากความเป็นตัวผมหรือไม่ได้สอดคล้องกับธรรมชาติของผม ผมก็จะมีแนวโน้มที่จะสร้างความขาดพร่องของโลกให้ลึกลงไปอีก แทนที่จะช่วยบรรเทาอาการขาดพร่องนี้ให้เบาบางลง

พาร์คเกอร์ พาล์มเมอร์ (จาก Courage to Teach)
ณัฐฬส วังวิญญู แปล

No comments:

Post a Comment

Related Posts Plugin for WordPress, Blogger...