บทความที่ 127: ชีวิตผลิบาน
โดย ณัฐฬส วังวิญญู
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๑
วันก่อนเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าได้ไปเข้ากระบวนการเรียนรู้เกี่ยวกับ “การเตรียมตัวตายอย่างมีสติ” ที่จัดขึ้นโดยเสมสิกขาลัย โดยมี พระไพศาล วิสาโล เป็นพระอาจารย์ ที่นำพาให้เกิดการตระหนักรู้ถึงความเปราะบางของชีวิต และธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตนั้นว่ามีพลังอย่างยิ่ง ในยุคที่วิทยาศาสตร์และวงการแพทย์เริ่มยอมรับวาระแห่งความตายว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติมากขึ้น โดยที่ไม่มีใครสามารถหยุดรั้งชีวิตที่จะพลัดร่วงจากไปในวาระที่เหมาะสมได้ การเผชิญหน้ากับความตายอย่างมีสติ กำลังเป็นประเด็นสำคัญต่อการเรียนรู้ของสังคม ในการปรับท่าทีในการดำรงอยู่กับความทุกข์ และส่งเสริมให้เกิดความสง่างาม ความหมายและสันติภาพในการจากไปของผู้คนดูจะเป็นวิถีทางที่เราจะตื่นรู้ได้อีกทางหนึ่งในการยอมรับ “ธรรมชาติของชีวิต”
ถ้าเปรียบการตายคือการผลัดใบ การเกิดก็อาจเปรียบได้ดังการผลิบานของชีวิต ในช่วงที่ผ่านมา ผมเองก็ได้มีประสบการณ์ในกับกระบวนการเกิดของลูกสาวคนแรก ซึ่งตอนแรกผมเองก็ไม่ได้คิดว่า การได้เป็นประจักษ์พยานการเกิดจะสร้างความสั่นสะเทือนให้กับการรับรู้ชีวิตของผมได้มากถึงเพียงนี้ ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าคนอื่นๆ ที่ได้รับรู้ประสบการณ์ของการเกิดจะได้รู้สึกหรือนึกคิดคล้ายกันหรือไม่ เพราะแต่ละคนย่อมมีการตีความประสบการณ์ที่ตนได้รับต่างกันไปเป็นธรรมดา
“ไม่น่าเชื่อ” “อึ้ง” “มันออกมาได้ไงเนี่ย” “...” นี่คือเสียงที่อยู่ในหัว แต่หากถามความรู้สึกตอนที่ลูกสาวคลอดออกมานั้นเต็มไปด้วยสีสันหลากหลายยากที่จะพรรณนาเป็นคำพูดได้ มีทั้งตื้นตัน ประหลาดใจ ดีใจ ปลื้มปีติ แปลกใจ ที่เห็นเขาออกมาจากการเบ่งลมของผู้เป็นแม่ ที่ทุ่มพลังทั้งชีวิตในการให้กำเนิดชีวิตน้อยๆ ตัวแดงๆ ผมดำๆ เพียงแค่เห็นเขาออกมาได้และมาซบที่อกแม่แบบหอบแฮกๆ เหมือนกำลังหาที่ซุกซ่อนในที่ปลอดภัย แม่ก็ปลอบใจให้ลูกน้อยรู้สึกว่า “แม่อยู่ที่นี่นะลูก” ลูกร้องไห้แค่แอะเดียวเท่านั้น แล้วก็สงบซบอกแม่ที่เหงื่อสะพรั่ง แต่ดูมีความสุขเหลือหลาย ลมหายใจยังคงเป็นหนึ่งเดียวกัน หัวใจที่กล้าหาญที่เผชิญวิกฤตการณ์ชีวิตที่เปราะบางและหมิ่นเหม่อย่างร่วมไม้ร่วมมือของทั้งสองชีวิตทำให้ผมอดกลั้นน้ำตาไม่ได้ เลยปล่อยโฮใหญ่ออกมายังกับเด็ก ที่ไม่เคยเห็นอะไรที่มีพลังและความงามที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้ ตอนนั้นรู้สึกว่าหัวใจสั่นสะท้านในอาการอึ้ง ต่อมน้ำตาที่แตกออกอาจเป็นวิธีเดียวที่จะใช้ระบายประสบการณ์อันท่วมท้นนี้ออกมาจากหัวอกของพ่อผู้เฝ้ามองที่คอยลุ้นและติดตามอย่างไม่ให้คลาดสายตาแม้เพียงลมหายใจเดียวก็เป็นได้
คุณหมอที่ช่วยทำคลอดคือ นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ รพ. เชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย คุณหมอทั้งให้กำลังใจและมีอารมณ์ขันแบบไร้ขีดจำกัด และมักพูดติดตลกว่า “เขาจะมาตามหาความหมายชีวิต” รวมทั้งบรรดาพยาบาลห้องคลอดก็ช่วยเหลือให้กำลังใจ โอบประคองถึงความรู้สึกของผู้หญิงให้คลอดได้อย่างอบอุ่น จนผมรู้สึกว่านางฟ้าเหล่านี้ได้ช่วยเหลือให้ครอบครัวของพวกเราได้ผ่านช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตที่สำคัญยิ่ง หมอก็เหมือนเทวดาที่ให้การดูแลกระบวนการของธรรมชาติและช่วยเหลือด้วยความรู้ทางการแพทย์ตามความเหมาะสมโดยยังคงให้ “ธรรมชาติ”ของแม่และเด็กกระทำภารกิจของชีวิตตัวเองเป็นสำคัญ
ผมถือว่า การเกิดนี้เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณที่ยากจะหาได้ และได้ช่วยปรับเปลี่ยนมุมมองที่ผมมีต่อชีวิต ต่อการเกิด ต่อผู้หญิงและความเป็นแม่ไปอย่างมาก เมื่อก่อนมันก็เป็นความเข้าใจเชิงทฤษฎี ซึ่งตอนนี้ผมจะไม่เรียกว่าความเข้าใจอีกต่อไป เรียกได้เพียงว่า ความเข้าหัว ไม่ใช่เข้าใจ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้ประสบด้วยตัวเอง มันยากยิ่งนักที่จะสัมผัสถึงพลังของชีวิตและการเกิด ถึงแม้ว่าผมจะเคยศึกษาบทบาทของสามีในการให้ความช่วยเหลือและเป็นกำลังใจให้กับภรรยา จะนวดตรงไหน บีบตรงไหน แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็จับผิดจับถูก บางทีนวดก็แรงเกินไป รู้สึกเสื่อมสมรรถภาพทางการนวดไปเลยก็มีเป็นบางขณะ ในตะวันตกหลายประเทศเขากำหนดเป็นเงื่อนไขให้การคลอดนั้นต้องมีสามีผู้ร่วมก่อเหตุไว้อยู่ดูแลกระบวนการคลอดด้วย เรียกว่ารับผิดชอบร่วมกัน สามีบางคนไม่ค่อยได้เห็นเลือด (เหมือนที่ผู้หญิงมีประจำเดือนทั้งหลายได้เห็นเป็นเรื่องปกติ) พอเห็นเลือดและกลิ่นคาวๆ เข้าไปถึงกับหน้ามืด เวียนหัว และหมอพยาบาลต้องหันมาให้การพยาบาลกับผู้ชายก็มี
ผู้ชายส่วนใหญ่อาจมีประสบการณ์ตรงกับการเกิดน้อยมาก จึงไม่มีโอกาสได้เห็นความเจ็บปวดของการเกิด เพราะการเกิดของเราเองก็นานมาแล้ว จำไม่ได้แล้ว ไม่รู้หรอกว่าเจ็บปวดอย่างไร ต้องต่อสู้มากเพียงใด ผมคิดว่าการรับรู้ในเรื่องนี้จะช่วยทำให้จิตใจน้อมลงไม่น้อย เป็นโอกาสการเรียนรู้ที่น่าฉวยไว้ให้ชีวิต เพื่อให้เกิดการมองเห็นตรงๆ และเกิดการประจักษ์แจ้งด้วยตนเองว่านี่แหละชีวิต มันมากเกินกว่าจะคิดเอาเองด้วยคำอธิบายใดๆ การรับรู้ผ่านประสบการณ์ตรงช่วยให้เกิดความรู้ที่ไม่ต้องผ่านการคิดคาดคะเน เป็นทางลัดสู่การยอมรับความยิ่งใหญ่ของชีวิต เพื่อลดความอหังการ์ของเรา และความรู้ทั้งหลายที่เรามีนั้นเสียได้
ผมรู้สึกถึงคุณค่าของเด็กทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ การเกิดของโมโม่ (ลูกสาว) สะท้อนถึงการเกิดของเด็กคนอื่นๆ ที่เกิดมาบนโลกใบนี้ด้วยความยากลำบาก และความเจ็บปวด เรื่องนี้ต้องขอยกนิ้วให้กับบรรดาแม่ๆ ทั้งหลายที่ผ่านวิกฤติเหล่านี้มาได้ อีกทั้งบรรดาผู้หญิงที่เกื้อหนุนกันและกันในช่วงคลอด แม้แต่พยาบาลที่ยังไม่มีลูกของตัวเองก็ดูเหมือนจะสามารถเข้าถึงและเข้าใจความเจ็บปวดของหญิงคลอดลูกได้ดีทีเดียว ผมสัมผัสได้ถึงหัวใจของความเป็นแม่ร่วมกันที่ผู้หญิงเหล่านี้แสดงออกมาในการช่วยเหลือเกื้อกูล อันนี้ถือเป็นเรื่องลี้ลับและน่าทึ่งสำหรับผมทีเดียว ยังคงมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่น่ามหัศจรรย์เกี่ยวกับการเป็นมนุษย์จริงๆ
แม้ผมเองไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นชาวคริสต์ แต่ก็นับถือในพระพร และพลังของดวงจิตอันยิ่งใหญ่ ที่มีคำเรียกว่า พระเจ้า ผมเคยคิดว่าผมจะได้มาเข้าเฝ้าพระเจ้าก็ในห้องคลอด และแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ห้องนี้คือพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ที่มีการเสียเลือดเนื้อ น้ำตา มีการเอาชีวิตเข้าแลก เป็นห้องที่แม่ออกรบเพื่อต่อสู้กับความเจ็บปวดของการเกิด เพื่อให้กำเนิดลูกน้อยของตน ผมขอให้คุณพระช่วยคุ้มครองลูกน้อยและแม่ทุกคนให้แคล้วรอดปลอดภัยจากภยันอันตราย เพื่อค้นพบความเป็นมนุษย์และวิถีทางแห่งความรักด้วยกันทุกคนเทอญ
แหล่งที่มา : http://jittapanya.blogspot.com/2008/11/blog-post_30.html
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment