จาก On Dialogue โดย เดวิด โบห์ม ; แปลและเรียบเรียงโดย ณัฐฬส วังวิญญู
Dialogue (ไดอะลอค) เป็นคำที่เราใช้เรียกวิถีทางที่เรานำมาสำรวจตรวจสอบรากของปัญหาและวิกฤตการณ์ต่างๆที่เราประสบกันอยู่ในปัจจุบัน มันช่วยให้เราสืบค้นเข้าไปดูสิ่งที่ทำให้การสื่อสารที่แท้จริงระหว่างมนุษย์ไม่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการสนทนาระหว่างศาสนา ระหว่างเผ่าพันธุ์ หรือระหว่างชาติ หรือระหว่างคนในหน่วยงานเดียวกัน ต้องประสบกับการแบ่งแยกเป็นส่วนย่อยๆ และถูกรบกวน
ในปัจจุบัน มนุษย์มีช่องทางในการปฏิสัมพันธ์กันมากมายหลากหลายหนทาง เราสามารถร้องเพลงร่วมกัน เต้นรำหรือเล่นด้วยกันอย่างไม่มีปัญหาอะไร แต่พอต้องมาพูดคุยกัน โดยเฉพาะในเรื่องที่พวกเราให้ความสำคัญมากๆ เรามักไม่สามารถทำโดยไม่มีความขัดแย้ง หรือความแบ่งแยกเกิดขึ้นได้ บ่อยครั้งมันนำไปสู่ความรุนแรง ในมุมมองของเรา นี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นถึง ความบกพร่องในกระบวนการคิดร่วมกันของมนุษย์
เราเล่นกันได้ แต่พอต้องคุยกันเป็นการเป็นงาน ก็มักเป็นเรื่องเคร่งเครียด ขัดแย้ง จากเล่นเปลี่ยนเป็นเอาจริง
ในไดอะลอค กลุ่มคนสามารถร่วมกันสำรวจกรอบความคิดที่มีมาก่อนความคิด ความเชื่อและความรู้สึกที่ควบคุมการปฏิสัมพันธ์ของพวกเราอยู่ มันเป็นโอกาสของการมีส่วนร่วม ในกระบวน-การที่แสดงถึงความสำเร็จ และล้มเหลวของการสื่อสาร มันสามารถเผยให้เห็นถึงแบบแผนที่มักไม่ลงรอย จนทำให้กลุ่่มมักหลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยกันในบางประเด็น หรือไม่ก็ทำให้ผู้คนยืนยันในการปกป้องความคิดเห็นของตัวเองอย่างแข็งขันในเรื่องบางเรื่อง
ไดอะลอค เป็นวิถีแห่งการร่วมกันสังเกตถึงอิทธิพลของระบบคุณค่าและความเจตนาที่ซ่อนอยู่ในตัวเรา ว่ามีผลต่อพฤติกรรมของพวกเราอย่างไร และเห็นว่าความแตกต่างทางวัฒนธรรมที่ไม่มีใครสังเกตเห็น อาจเกิดการปะทะและขัดแย้งกันได้
ไดอะลอค จึงเป็นเหมือนพื้นที่เปิดสำหรับการเรียนรู้ ผ่านบรรยากาศที่เป็นมิตร เพื่อความบรรสานและความสร้างสรรค์จะสามารถเกิดขึ้นได้
ด้วยธรรมชาติของการสนทนาแบบ ไดอะลอค มีลักษณะเป็นการสำรวจ ดังนั้น ความหมายและวิธีการ จะค่อยๆ คลี่เผยออกมา มันไม่มีกฎตายตัวว่าเราจะต้องดำเนินการพูดคุยอย่างไร เพราะหัวใจสำคัญของมัน คือ การเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่แค่การเอาข้อมูลหรือแนวคิดมาโน้มน้าวให้คนอื่น (ยิน) ยอมรับ ไม่ว่าเราจะใช้อำนาจเหนือกว่าทางใดก็ตาม ไดอะลอคไม่ใช่วิธีในการตรวจสอบ หรือวิพากษ์วิจารณ์ทฤษฎีหรือโปรแกรม แต่เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ระหว่างในหมู่มิตรมากกว่า
สิ่งที่ไดอะลอคสนใจ ไม่ใช่การพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน หรือพยายามทำให้ผู้คนทำอะไรบางอย่าง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
เพราะความพยายามอย่างว่า อาจทำให้กระบวนการพูดคุยเพื่อ เรียนรู้บิดเบี้ยวผิดเพี้ยนไป แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเพราะความคิดที่ถูกสังเกตเห็น จะแสดงออกแตกต่างออกไปจากความคิดที่ไม่ได้รับการมองเห็น (การยอมรับมาก่อนการ เปลี่ยนแปลง)
ดังนั้น ไดอะลอคจึงเป็นโอกาสให้ความคิดและความรู้สึกได้แสดงออกมาอย่างอิสระและในมิติที่ลึกซึ้งก็ได้ หรือแบบทั่วไปก็ได้ ไม่ว่าเรื่องหรือเนื้อหาอะไรก็เกี่ยวข้องกัน ไม่มีอะไรถูกแยกออกไป นี่เป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่งในวัฒนธรรมของเรา
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่โบห์มได้บันทึกการประชุมพบปะกันไว้ว่า ตอนแรกหลายคนก็คาดหวังว่าช่วงสุดสัปดาห์นั้นจะเต็มไปด้วยการบรรยายในหัวข้อต่างๆ และการอภิปรายในรายละเอียดของเนื้อหา แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันมีบางอย่างที่สำคัญกว่านั้นได้เกิดขึ้น นั่นคือ เกิดกระบวนการ Dialogue ขึ้น โดยความหมายหรือความเข้าใจในกลุ่มเกิดการเลื่อนไหลอย่างอิสระเสรี
แม้ว่าตอนแรกๆ หลายคนแสดงจุดยืนทางความคิดของตัวเองอย่างแข็งขันและชัดเจนมาก และตั้งใจจะปกป้องจุดยืนเหล่านั้นด้วย แต่ต่อมาภายหลัง พวกเขากลับรู้สึกว่าการรักษามิตรภาพระหว่างกันนั้นสำคัญยิ่งกว่าการยึดในความคิดเห็นของตนเอง มิตรภาพที่ว่านี้มีลักษณะสบายๆ และให้เกียรติ ไม่ถึงกับต้องสนิทสนมกันมากอย่างที่คิด
แต่มันทำให้เกิด ‘จิตสำนึกร่วม’ บางอย่างขึ้นมาจากความเข้าใจร่วมที่ค่อยๆ สั่งสมในขณะที่การสนทนาดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้คนไม่ได้เป็นขั้วขัดแย้งต่อกันหรือมีปฏิกิริยาต่อกันเหมือนตอนต้น แต่กลับ ‘มีส่วนร่วม’ อยู่ในแอ่งธารแห่งความหมายร่วมที่เพิ่มพูนความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเปลี่ยนแปลงไปตามชีวิตของการสนทนา
เนื่องจากกลุ่มไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายอะไรไว้ ดังนั้น เป้าหมายร่วมก็เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ โดยกลุ่มเองก็เริ่มมีความสัมพันธ์ต่อกันเต็มที่ ไม่มีใครที่ถูกละเลย และไม่่มีเรื่องไหนที่ถูกตัดออกไป
การสนทนาแบบนี้เองที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับความสัมพันธ์ในกลุ่ม จากรูปแบบที่แบ่งฝักฝ่าย ปกป้องความเชื่อหรือจุดยืนของตัวเอง มาเป็นการมองเห็นและยอมรับมุมมองของกันและกันอย่างแท้จริงยิ่งขึ้น และก่อเกิดเป็นจิตสำนึกร่วมที่ทรงพลังและเต็มไปด้วยศักยภาพ แห่งการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลง.
No comments:
Post a Comment